พระราชทานอภัยโทษ 2558 มีผลปล่อยตัว 38,000 คน นักโทษได้รับลดหย่อนตามสัดส่วน 140,000 คน กำนันเป๊าะ ลดโทษ 5 ปี 8 เดือน ส่วนเครือข่ายพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์-ตระกูลสุวะดี ลดโทษคดีอื่น เว้นความผิดมาตรา 112
วันที่ 31 มีนาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัลลภ นาคบัว รองโฆษกกระทรวงยุติธรรม และนายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวการพระราชทานอภัยโทษ ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า การพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นการพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่โบราณกาล เพื่อให้โอกาสกับนักโทษที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปรับปรุงตัวเอง เริ่มต้นชีวิตใหม่
โดยผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษในโอกาสนี้ มีสาระสำคัญและหลักเกณฑ์ ดังนี้
นักโทษกลุ่มที่ 1 ผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว โดยประมาณการผู้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว 38,000 คน ได้แก่
- ผู้ต้องโทษกักขัง ผู้ต้องโทษปรับที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
- ผู้ต้องโทษที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ
- นักโทษเด็ดขาดที่มิได้กระทำผิดในคดีร้ายแรงที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
- นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
- นักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 ปี ที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
- นักโทษเด็ดขาดเป็นคนพิการ หรือทุพพลภาพ
- นักโทษเด็ดขาดเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เป็นหญิง หรือผู้มีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ
นักโทษกลุ่มที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดหย่อนโทษตามสัดส่วนต่าง ๆ จำนวน 140,000 คน
ส่วนนักโทษกลุ่มที่ 3 เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ นักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้โทษกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายที่มีกำหนดโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเกิน 8 ปีขึ้นไป
สำหรับนักโทษรายสำคัญที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสนี้ด้วย ได้แก่ พ.ต. เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ ผู้พันตึ๋ง ต้องโทษคดีฆ่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษ และนายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ต้องโทษคดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้วจำคุก 3 ปี 4 เดือน และจ้างวานฆ่า จำคุก 25 ปี รวมทั้ง 2 คดีได้ลดโทษทั้งหมด 5 ปี 8 เดือน ซึ่งจะพ้นโทษ 27 กันยายน 2578
ส่วนนักโทษเครือข่าย พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนักโทษตระกูลสุวะดี ได้รับลดหย่อนโทษในคดีอื่น ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่งรวมถึง นายอภิรุจ และนางวันทนีย์ ก็ได้รับลดหย่อนโทษคดีอื่น ๆ ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112 เช่นกัน
ทั้งนี้สำหรับนักโทษการเมือง ประเทศไทยไม่มีการคุมขังนักโทษการเมือง เว้นแต่ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุด้วยการเมือง ต้องรับโทษด้วยคดีอาญา เข้าข่ายลดหย่อนโทษในคดีอาญา ส่วนนักโทษคดีความมั่นคง อยู่ในอำนาจศาลทหาร ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมว่าจะดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษต่อไปอย่างไร
ภาพจาก marinepolice.go.th , สปริงนิวส์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก