มาตรา 44 เปิดสาระสำคัญอำนาจในมือ คสช. มีอะไรบ้าง


 มาตรา 44 เปิดสาระสำคัญอำนาจในมือ คสช. มีอะไรบ้าง 


          เปิดข้อมูล มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของ คสช. ให้อำนาจทหารเข้าไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ ยืนยันหากไม่ทำผิดไม่มีผลกระทบกับประชาชนทั่วไป


          หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยของประเทศ สาระสำคัญของกฎอัยการศึกนั้นให้ทหารมีอำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบ ตรวจค้นได้โดยไม่มีความผิดทางอาญา และให้อำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีความมั่นคงของพลเรือนได้

          ในทางกลับกันรัฐบาลยุค คสช. กลับถูกกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะกับกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพราะเห็นว่ากฎดังกล่าวเป็นกฎที่ล้าหลัง เปิดช่องให้มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือน และต้องการให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกโดยเร็ว

          ท่าทีของรัฐบาล คสช. จึงเปลี่ยนไปเพื่อลดกระแสกดดันจากนานาชาติ ทีมกฎหมายของ คสช. จึงได้พิจารณาว่าจะมีกฎหมายใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ในบ้านเมือง จนได้ข้อสรุปคือการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของ คสช. ที่อยู่เหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 มาใช้เป็นกรอบในการเขียนกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงแทนกฎอัยการศึก
 
          เปิดข้อมูล มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
 
          บทบัญญัติในมาตรา 44 นั้น ระบุว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”
 
          ทั้งนี้การใช้อำนาจ คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด โดยมีรายละเอียด 5-6 ข้อ อาทิ

           - ให้ทหารเข้าไปปฏิบัติงาน และร่วมสอบสวนผู้ต้องหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
           - ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ภายใน 7 วัน เท่ากับกฎอัยการศึก
           - หากควบคุมตัวและสอบสวนพบไม่มีความผิด ปล่อยตัวได้ทันที ยกเว้นมีอาวุธสงคราม

          จากข้างต้นจะเห็นว่า มาตรา 44 นั้นให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. กระทำการได้ทุกอย่าง และเหนือกว่าทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และเป็นคำสั่งที่เป็นผลที่สุด โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
 
          ด้านความเห็นของนักวิชาการหลังปรากฏแน่ชัดว่ามีการยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศใช้คำสั่งแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 แทน ย่อมมีเสียงสะท้อนทั้งความเป็นกังวล และห่วงใยว่าประเทศจะเข้าสู่รัฐแบบเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และมีอำนาจแบบล้นฟ้าหรือไม่ เช่น
 
          นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ออกมาคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วหันมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 แทน และย้ำว่าไม่ควรมีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่าเป็นการให้อำนาจหัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ทุกอย่าง ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้วหากมีใครไม่เห็นด้วย หรือถูกละเมิดสิทธิจากการใช้มาตรานี้ จะก็ไปร้องอะไรกับใครไม่ได้ เพราะการใช้อำนาจตามตามมาตรานี้ ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ดังนั้น คสช. จะไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญเลย เพราะมาตรา 44 ให้อำนาจเต็ม 100%
 
          อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการที่สนับสนุนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของนายกรัฐมนตรี เช่น
 
          นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อ.ประจำรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกมาสนับสนุนแนวคิดของนายกฯ ในการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา  44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน โดยยืนยันว่าหากมองในสายตาต่างชาติแล้วถือว่าสถานการณ์ประเทศไทยดีขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือหน่วยงานด้านการทูตต่าง ๆ จะมองว่ากฎอัยการศึกผูกโยงกับการทำรัฐประหารโดยตรง แต่หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วก็จะผ่อนปรนเรื่องข้อกล่าวหาของต่างชาติลงได้มาก
 

          ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นเจตนาของรัฐบาลในการยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย ตนยังเชื่อว่ารัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าจะใช้อำนาจอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามมา และจะพิสูจน์ว่าการใช้มาตรา 44 นั้นมีขอบเขต ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าจริง ๆ
 
          อย่างไรก็ตามหลังจากการประกาศคำสั่งเพื่อประกาศใข้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวแล้ว เราคงต้องมาดูกันต่อว่า “รัฐบาล คสช.” จะใช้เพื่อกำหนดกรอบกฎหมายอย่างไร ออกคำสั่งอะไรบ้าง จะสามารถลบกระแสต่อต้าน และกดดัน จากนานาชาติในการบริหารประเทศของ คสช. ได้หรือไม่
 


ภาพจาก ครอบครัวข่าว 3

** หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลล่าสุด วันที่ 2 เมษายน 2557 เวลา 15.15 น.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

  




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาตรา 44 เปิดสาระสำคัญอำนาจในมือ คสช. มีอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2558 เวลา 10:39:30 185,995 อ่าน
TOP
x close