ภายหลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึก เมื่อคืนวันที่ 1 เมษายน 2558 ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่ง 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ในการควบคุมแทนกฎอัยการศึกทันที โดยระบุว่า เพื่อป้องกันและปรามปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ รวมทั้งการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการกระทำความผิดตามกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ คำสั่งการประกาศใช้มาตรา 44 ดังกล่าว มีการออกคำสั่งทั้งหมด 14 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อสามารถอธิบายอย่างเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
1. คำสั่งฉบับนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป
2. คำว่า "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" หมายถึง ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้
ส่วนคำว่า "ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" หมายถึง ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง
3. ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย (ข้าราชการทหารซึ่งมียศร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป) ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดใน 4 ข้อต่อไปนี้โดยเร็ว
3.1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
3.2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
3.3 ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม
3.4 ความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
4. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินตามข้อ 3 ดังนี้
4.1 ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคํา หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ 3
4.2 จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป
4.3 ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ซึ่งการเข้าร่วมสอบสวนดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
4.4 สามารถตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน หรือสถานที่ใด ๆ ที่มีเหตุต้องสงสัยว่ามีบุคคลซึ่งกระทำความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำผิด หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อ 3 ที่สามารถเป็นพยานหลักฐานได้ โดยเห็นว่าหากรอหมายค้น บุคคลนั้นอาจหลบหนี หรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย
4.5 สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตามข้อ 4.4
4.6 สามารถกระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
5. มีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
6. มีอำนาจเรียกบุคคลต้องสงสัยตามความผิดข้อ 3 มาสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ และหากยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ สามารถควบคุมตัวบุคคลนั้นได้ไม่เกิน 7 วัน ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา ทั้งนี้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวไว้นั้นไม่ถือว่าเป็นผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุให้ต้องดำเนินคดีต่อบุคคลดังกล่าวในฐานะผู้ต้องหา ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจดําเนินการต่อไป
7. ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย (ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา) ช่วยเหลือเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามที่สั่งการหรือมอบหมาย
8. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
9. ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 4.1 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
10. ผู้ที่ต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
11. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจพิจารณาปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้เนื่องจากทำผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ทั้งนี้ ในกรณีมีเงื่อนไขคือ บุคคลนั้นห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน โดยผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
12. ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ หากผู้กระทำผิดสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ในเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขก็ตาม ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
13. การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
14. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าเหตุ ถือว่าได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดของเจ้าหน้าที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายได้
สรุปสาระสำคัญของคำสั่ง 3/2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
อำนาจหน้าที่ของทหารตามคำสั่ง 3/2558
1. ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว หรือมาให้ถ้อยคํา หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร, ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม และความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2. ในการออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวตามความผิดดังกล่าว หากยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ สามารถควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหา กระทั่งสอบสวนแล้วเสร็จจนพบว่ากระทำผิดจริง จะส่งให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือตํารวจดําเนินการต่อไป
3. สามารถจับกุมผู้กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป
4. ช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมกับพนักงานสอบสวนในการสอบสวนผู้กระทำผิด
5. ตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน สถานที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่มีหมายค้น หากต้องสงสัยว่าสถานที่นั้นมีผู้กระทำผิดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินที่ได้จากการทำผิด หรือพยานหลักฐานที่ใช้ในการกระทำผิดซุกซ่อนอยู่ โดยหากพบแล้วสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์ได้
6. ออกคำสั่งห้ามเสนอข่าว การเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนทำให้คนเข้าใจผิด จนกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
7. มีอำนาจในการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ในฐานความผิดฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้
8. เจ้าพนักงานฯ ที่กระทำหน้าที่โดยสุจริต และไม่เกินกว่าเหตุ จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
9. ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดของเจ้าหน้าที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายได้
บทลงโทษของผู้ฝ่าฝืนตามคำสั่ง 3/2558
1. ผู้ที่ไม่มารายงานตัว มาให้ถ้อยคำ ส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
2. ผู้ที่นำเสนอข่าว จำหน่าย เผยแพร่สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่น ๆ ที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัว เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันกระทบความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
3. ผู้ที่ต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
4. ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หากได้รับอนุญาตปล่อยตัว แล้วไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
5. ผู้ที่มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่หากสมัครใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานฯ เห็นสมควรปล่อยตัว ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ภาพจาก ratchakitcha.soc.go.th