
แกนนำ นปช. เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และนักวิชาการ ทยอยเข้าพบ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หารือการสร้างแนวทางปรองดอง เข้มห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าประชุม กันสื่อมวลชนไว้ด้านหน้า ด้าน จตุพร พรหมพันธุ์ เผยพร้อมเดินหน้าปฏิรูปร่วมกัน ขณะที่ทนาย นปช. เตรียมเสนอความเห็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44
วันที่ 23 เมษายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ว่า บรรดานักการเมือง นักวิชาการ คอลัมนิสต์ ที่ได้รับหนังสือเชิญจาก พล.อ. พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้เข้าแสดงความคิดเห็นกำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ต่างทยอยเดินทางมายังสโมสรทหารบกกันอย่างคึกคัก

สำหรับผู้ที่ถูก ศปป. เชิญ มีแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนักวิชาการ อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. เปิดเผยก่อนเข้าแสดงความเห็น ว่า วันนี้มาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางเดินหน้าปฏิรูปร่วมกัน ซึ่งตนก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลก็อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟัง อย่างไรก็ตามคิดว่าวันนี้เลยเวลาที่จะเรียกมาปรับทัศนคติแล้ว

ส่วนนายพงศ์เทพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เชิญมา ยังไม่รู้จะพูดประเด็นใดบ้าง เท่าที่ทราบคือจะพูดกันเรื่องความปรองดอง วันนี้ไม่กังวลอะไร แต่เสียดายที่ไม่เปิดโอกาสให้สื่อเข้ารับฟัง
ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. กล่าวว่า ตนได้เตรียมข้อมูลคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และเป็นสาเหตุของความแตกแยกทางการเมือง เพื่อให้ คสช. พิจารณาหากอยากแสดงความคิดเห็น ตนอยากมีส่วนร่วมกับการปรองดอง และอยากให้ระยะเวลาที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศสั้นที่สุด หาก คสช. เข้ามาด้วยเจตนาดีตนก็ขอเป็นกำลังใจให้ ส่วนเรื่องข้อเสนอในการปรองดองยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้ตนยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรา 44 อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้กันสื่อมวลชนให้อยู่เฉพาะบริเวณด้านหน้าทางเข้าสโมสรทหารบก และไม่อนุญาตให้เข้าไปรับฟังการประชุมแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด สำหรับผู้ที่ถูกเชิญให้แสดงความเห็น จะต้องผ่านเครื่องสแกนและตรวจสอบอาวุธก่อนเข้าห้องประชุม และห้ามนำโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือติดต่อสื่อสารเข้าห้องประชุมโดยเด็ดขาด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
