
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่ออียูให้โอกาสแก้ตัว หลังรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาประมง เล็งใช้มาตรา 44 ตั้งศูนย์ลงทะเบียนร่วม พร้อมกำหนดโทษสถานหนักกับผู้ประกอบการ รับแก้ปัญหาให้ทัน 6 เดือน เอกชนขนาดใหญ่ต้องให้ความร่วมมือ เตรียมส่งรองนายกฯ จัดกองเรือร่วมในภูมิภาคอาเซียน หวังลดปัญหาการค้ามนุษย์
วันที่ 23 เมษายน 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ประเมินให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทย และให้เวลา 6 เดือนในการแก้ไข ว่า ปัญหานี้เป็นที่เพ่งเล็งมานานแล้ว แต่ตนเชื่อว่าอียูจะให้โอกาส เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาไปมากแล้ว อาจจะมีความล่าช้าเรื่องการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ และต้องแก้ไขให้การประมงไทยมีคุณภาพ

สำหรับเรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และบางส่วนยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อตั้งศูนย์ลงทะเบียนร่วม และกำหนดให้ลงโทษผู้กระทำผิดสถานหนัก บังคับให้ปรับปรุงเรือประมงให้ได้มาตรฐาน และติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่ง (วีเอ็มเอส) เพื่อตรวจสอบให้มีการทำประมงในเขตสัมปทานที่กำหนดไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตามการจะแก้ไขปัญหาให้ทันภายใน 6 เดือนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชนขนาดใหญ่หรือไม่
ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พูดคุยกับกองทัพของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อจัดกองเรือในการทำประมงร่วมกัน ในรูปแบบ Joint Venture โดยประเทศที่ไม่มีเรืออาจจัดสรรแรงงานมา เพื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์ โดยจะเริ่มพูดกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในการหารือทวิภาคีวันนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับอินโดนีเซีย ทั้งระดับพหุภาคีและภูมิภาคในการพัฒนาความสัมพันธ์รอบด้าน ซึ่งความร่วมมือด้านการประมง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติรวมทั้งการแก้ปัญหาภาคประมงไทยในลักษณะองค์รวม ทั้งประเด็นแรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการทำประมงแบบไอยูยู และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ส่งเสริมความร่วมมือการค้าและการลงทุน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
