
อ.เจษฎา ไขปมตุ๊กแกยักษ์จากอินโดนีเซีย ที่แท้เป็นสัตว์ชนิดอื่น ชี้เป็นพวกตัวเงินตัวทองถูกจับทาสี เพราะตุ๊กแกยักษ์ที่เพิ่งจับได้ เพิ่งสูญพันธุ์ไปไม่นานมานี้
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเขียนข้อความเฉลยภาพตุ๊กแกยักษ์จากประเทศอินโดนีเซีย ที่กำลังแชร์กันว่อนโซเชียลขณะนี้ โดยระบุว่า ความจริงแล้วเป็นตัวเงินตัวทอง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศสังเกตอวัยวะส่วนต่าง ๆ มีจุดที่ไม่เหมือนตุ๊กแก เช่น นิ้ว หาง หรือดวงตา ขณะเดียวกันตุ๊กแกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เพิ่งจับได้นั้น ก็เพิ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อไม่นานมานี้
สำหรับข้อความทั้งหมด มีดังนี้
"เฉลยภาพตุ๊กแกยักษ์ ที่จริงแล้วเป็น .... ตัวเงินตัวทอง ปลอมตัวมา"
หลายคนคงได้เห็นคลิปตุ๊กแกยักษ์จากประเทศอินโดนีเซีย ตัวยาวเป็นเมตร (138 ซม.) แชร์กันไปทั่ว ดูแล้วขนลุกปน ๆ กับคิดว่ามันน่าจะแพงเอาเรื่องที่ตัวใหญ่ได้ขนาดนั้น แต่นักสัตววิทยา Darren Naish ได้เขียนบล็อกลงในเว็บวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Scientific American ได้ฟันธงว่ามันไม่ใช่ตุ๊กแก แต่เป็นพวก monitor lizard หรือพวกตัวเงินตัวทอง ถูกจับทาสี !!
ตุ๊กแกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยจับกันได้นั้น พบที่ประเทศนิวซีแลนด์และพึ่งจะสูญพันธุ์ไปไม่นานนี้ โดยมีความยาว 60 เซนติเมตร (สั้นกว่าเจ้ายักษ์นี้ถึง 2 เท่า) แม้ว่าเจ้ายักษ์ตัวนี้จะมีลักษณะหัวแบน ๆ คล้ายกับตุ๊กแก และไม่น่าใช่ตัวซาลาแมนเดอร์ยักษ์แน่ ๆ (เพราะมีนิ้ว 5 นิ้ว ขณะที่ซาลาแมนเดอร์จะมี 4 นิ้ว) แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ให้ความเห็นว่ามันมีอะไรผิดปกติไป เช่น ลักษณะปลายนิ้วของมันไม่ได้งอขึ้นเวลาก้าวเดิน ตามลักษณะนิ้วตุ๊กแกที่ดูดพื้นตามปกติ/มันไม่แสดงอาการว่าจะอ้าปากกัดเลย แบบตุ๊กแกทั่วไปทำ/แถมไม่เห็นตาดวงโตสีทอง ที่เป็นลักษณะเด่นของตุ๊กแกด้วย/หางยาวเรียว แทนที่จะแบนกลม/ท่าทางในการเดินก็ไม่เหมือนตุ๊กแก
ผู้เขียนบล็อกและเพื่อน ๆ จึงสรุปว่า เจ้ายักษ์จากอินโดนี้ต้องเป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่ม วรนุส Varanus หรือตัวเงินตัวทองแน่ ๆ (แม้เค้าจะไม่ได้บอกว่าเป็นพันธุ์อะไรก็ตาม) นอกจากนี้ ในบล็อกยังมีภาพ "ตุ๊กแกยักษ์" ตัวอื่น ๆ อีกหลายตัว ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็น "ตุ๊กแกปลอม" ที่มีคนพยายามทำมาหลอกขายคนอื่น