การทำประชามติคือหนึ่งในค่านิยมหลัก 12 ประการ


ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

           ยังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่หาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ นั่นคือคำถามที่ว่า ตกลงแล้วสังคมไทยควรทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่...อย่างไร ?


           ล่าสุด กระแสเรียกร้องให้ทำประชามติ ยิ่งแรงขึ้น ภายหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

           เมื่อลองสำรวจดูทางออกสำหรับปัญหาลักษณะนี้ ก็พบว่า ได้รับการวางแนวทางปลดล็อกเรียบร้อยตาม "หลักค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ" ภายใต้นโยบาย คสช. ซึ่งถูกย่อยให้เข้าใจเอาไว้อย่างง่ายๆ ในเนื้อหาของหนังสือชุด "ค่านิยมหลัก 12 ประการของคนไทย เล่มที่ 7 ตอนความเห็นต่างที่มีความสุข ค่านิยมประการที่ 7 เข้าใจ เรียนรู้ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

           หนังสือชุดดังกล่าวเป็นตำราอ่านเสริมประสบการณ์ระดับประถมศึกษา เขียนโดย โชติ ศรีสุวรรณ ภาพประกอบโดย เกษมสุข ตันติทวีโชค จัดพิมพ์โดยสถาพรบุ๊คส์ ราคาขายเล่มละ 160 บาท

ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

           จุดประสงค์การจัดพิมพ์แจ้งไว้ที่ปกหลังว่า "เนื้อหาสอดคล้องกับค่านิยมหลักของคนไทยประการที่ 7 คือ เข้าใจ เรียนรู้ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแสดงตัวอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องเพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง และครูนำไปปรับใช้ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

           เนื้อหาในเล่มโดยสรุปใช้กลวิธีสร้าง "Case Study" หรือ กรณีศึกษาขึ้นมาในห้องเรียนเด็กชั้นประถมฯ 5 กำหนดให้ด.ช.โด่ง และด.ช.ติงลี่ มีความเห็นไม่ตรงกันในประเด็นที่คุณครูปราณีขอให้เด็ก ๆ 35 คนในชั้นคัดทำกิจกรรมส่งความสุขช่วงขึ้นปีใหม่

           ทั้งนี้ ด.ช.โด่ง เสนอว่า ควรประดิษฐ์บัตรอวยพรและของขวัญปีใหม่ด้วยตัวเอง เพื่อส่งเพื่อมอบความสุขให้แก่กันโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง ขณะที่ ด.ช.ติงลี่ ซึ่งเป็นลูกพ่อค้าทอง ระบุว่า ไปซื้อเอาง่ายกว่า ทั้งยังมีของหลากหลายให้เลือก

           ผลสุดท้ายเมื่อเด็กในห้องเถียงกันมาก ๆ เข้า ครูจึงให้ทั้งสองฝ่ายออกมาแสดงเห็นผล จนในที่สุดก็มีการเปิดลงประชามติเล็ก ๆ
 
ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

           "ครูเห็นด้วยทั้งสองฝ่าย เพราะต่างมีเหตุผลน่าฟังด้วยกันทั้งนั้น เพื่อให้ความคิดเห็นออกมาประเด็นเดียว ครูอยากให้นักเรียนแสดงประชามติด้วยการยกมือแล้วนับ ถ้าฝ่ายใดได้รับเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายได้เสียงข้างน้อยต้องยอมรับอย่างสงบและสันติ จึงจะเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ครูปราณี กล่าวถึงหลักประชามติ พร้อมขอให้นักเรียนส่งตัวแทนมาเป็นพยานจดคะแนน

           เนื้อเรื่องบรรยายว่า การลงคะแนนเป็นไปอย่างเปิดเผยและสงบ ส่วนผลลัพธ์พบว่า ฝ่าย ด.ช.โด่งได้ 30 คะแนน ส่วนติงลี่ได้ 5 คะแนน ด้านทุกคนในห้องต่างมีความสุข พร้อมปรบมือกันอย่างมีความสุข ท่ามกลางรอยยิ้มของครูปราณี

           "ขอบใจเพื่อน ๆ ที่มองเห็นประโยชน์และคุณค่าในสิ่งที่ผมเสนอ การแสดงความเห็นที่ต่างกันไม่ใช่เรื่องแพ้ หรือเรื่องชนะที่เราจะมัวมาคัดค้านหรือหักล้างกันด้วยความโกรธ ผมขอชมติงลี่ที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ร่วมกันคิดพัฒนาโรงเรียนของเรา บ้านเมืองของเราให้มีชื่อเสียงต่อไป" ด.ช.โด่ง กล่าวขอบคุณทุกฝ่าย

ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

           คำถามคือ ในเมื่อการทำประชามติคือหนึ่งในค่านิยม 12 ประการเช่นนี้แล้ว รัฐบาลหรือ คสช.​ จึงควรเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีความเห็นต่างกันได้ทำประชามติว่า เราควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่..อย่างไร?

           ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 นี้ ทาง คสช. จะตัดสินใจว่าจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมทำโพลโหวตแสดงความเห็นผ่านเว็บพลเมืองเสวนา (Citizen Forum) ว่า ตกลงแล้ว "เราควรมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ?"

           คลิกโหวตได้ที่ลิงก์นี้  citizenforum.in.th





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การทำประชามติคือหนึ่งในค่านิยมหลัก 12 ประการ อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 18:43:04 5,618 อ่าน
TOP
x close