ฉันนะ ประวัติพระผู้ดื้อดึงว่านอนสอนยาก ผู้กลายเป็นพระอรหันต์

      ฉันนะ พระผู้ดื้อดึงว่านอนสอนยาก ผู้กลายเป็นพระอรหันต์

          พระฉันนะ ประวัติพระภิกษุผู้ว่ายากสอนยาก ที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ผู้ดื้อดึง ถือทิฐิยกตนข่มผู้อื่น แต่สุดท้ายกลับใจจนเป็นพระอรหันต์ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

          ประวัติของพระภิกษุที่บรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหันต์ในพุทธศาสนามีหลายองค์ด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าพระอรหันต์ทุกองค์จะประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้กระทำความดีมาตลอด ดังเช่น พระฉันนะ หรือนายฉันนะ ผู้ที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า หรือเป็นสหชาติของพระพุทธเจ้า พระฉันนะขึ้นชื่อว่าเป็นพระภิกษุผู้ว่ายากสอนยาก มีประวัติแบบต้นร้ายปลายดี โดยแต่เดิมเป็นผู้ที่ดื้อดึงไม่สนใจคำเตือนของผู้อื่นและยกตนข่มผู้อื่น ไม่สนใจธรรมะ แต่สุดท้ายก็สามารถกลับใจและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้สำเร็จ ถือว่าประวัติของพระฉันนะเป็นข้อคิดที่เตือนสติของสาธุชนได้อย่างดี ซึ่งกระปุกดอทคอมก็ได้หยิบเอาประวัติและข้อคิดดี ๆ ของพระฉันนะมาฝากไว้ ให้ได้เรียนรู้กันค่ะ

ประวัติพระฉันนะ หรือนายฉันนะ

          พระฉันนะ ก่อนบวชมีชื่อว่า นายฉันนะ ในอดีตชาติเคยสร้างบุญบารมีร่วมกับพระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์มาหลายชาติ ทำให้ผลบุญที่สะสมมา ส่งผลให้นายฉันนะได้เกิดเป็น 1 ใน 7 สหชาติ หรือผู้ที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า โดยสหชาติทั้ง 7 ประกอบด้วย 1. พระนางพิมพา 2. พระอานนท์ 3. นายฉันนะ 4. กาฬุทายี 5. ม้ากัณฐกะ 6. ต้นศรีมหาโพธิ์ และ 7. ขุมทรัพย์ทั้งสี่

 ฉันนะ พระผู้ดื้อดึงว่านอนสอนยาก ผู้กลายเป็นพระอรหันต์
   
โดยประวัติของพระฉันนะจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
    
1. นายฉันนะ คนสนิทของพระพุทธเจ้า (ก่อนออกบวช)

          นายฉันนะ ถือเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าสมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอย่างมาก เพราะนอกจากนายฉันนะจะเป็นสหชาติแล้ว นายฉันนะยังเติบโตมาพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ รวมทั้งเป็นอำมาตย์และเป็นสารถี มีหน้าที่ขับรถม้าทรงของเจ้าชายสิทธัตถะ และสิ่งที่ทำให้นายฉันนะยึดตนเหนือกว่าผู้อื่นนั่นก็คือ เรื่องราวตอนที่นายฉันนะขับรถม้าพาเจ้าชายสิทธัตถะไปนอกพระราชวัง ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะพบกับเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่, คนเจ็บ, คนตาย และสมณะ ที่เทวดานิรมิตขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงเห็นแต่ความสุขเกิดความเบื่อหน่ายและต้องการหาทางพ้นทุกข์

          อีกบทบาทสำคัญของนายฉันนะ นั่นก็คือ เรื่องราวในคืนวันประสูติของพระราหุล ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าชายสิทธัตถะ ถือกำเนิดขึ้น ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะ รู้สึกเหมือนมีบ่วงพันธนาการและต้องการหลดพ้นจากวัฏฏะสงสาร จึงปลุกนายฉันนะให้เตรียมม้ากัณฐกะออกไปจากวังจนถึงแม่น้ำอโนมา ทรงปลงพระโมลี ปลงผม แล้วสั่งให้นายฉันนะนำเสื้อผ้าและม้ากัณฐกะกลับวังพร้อมแจ้งข่าวต่อพระเจ้าสุทโธทนะว่า พระองค์ออกผนวชแล้ว
    
2. นายฉันนะบวช เป็นพระภิกษุที่ขึ้นชื่อเรื่องความดื้อดึง

          หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้บำเพ็ญพระบารมีได้ระยะหนึ่ง ก็ได้กลับมาอบรมสั่งสอนพระประยูรญาติที่พระราชวัง ซึ่งทำให้พระประยูรญาติหลายพระองค์เกิดความเลื่อมใสขอบวชตาม ซึ่งนายฉันนะก็ขอบวชด้วยเป็นพระฉันนะ แต่ด้วยความที่พระฉันนะถือตนเองว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดสนิทกับพระพุทธเจ้า จึงเกิดความลำพอง เย่อหยิ่ง มีทิฏฐิมานะ ทำให้พระฉันนะไม่บำเพ็ญธรรม วัน ๆ ก็ทำตัวเตร็ดเตร่เดินเข้าไปใกล้ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและทำตัวกร่างกับพระภิกษุรูปอื่น ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระอัครสาวกทั้ง 2 คือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร
  
          พระสารีบุตรเมื่อเห็นพฤติกรรมของพระฉันนะ ก็ได้กล่าวตักเตือน แต่พระฉันนะไม่ฟังและได้โต้เถียงกลับอย่างไม่ยำเกรงพร้อมยกตนเองว่าเป็นผู้ที่ทำให้พระพุทธเจ้าออกผนวช ทำให้พระสารีบุตรเงียบ แต่ที่เงียบไม่ใช่เพราะกลัวพระฉันนะ แต่เป็นเพราะเห็นว่าพระฉันนะเป็นผู้ที่เตือนยาก

          หลังจากนั้นพระฉันนะก็ยังทำพฤติกรรมเช่นเดิมจนทำให้พระโมคคัลลานะตักเตือน แต่พระฉันนะก็ไม่ฟังและโต้เถียงอีกตามเคย จนกระทั่งพระโมคคัลลานะเอ่ยปากตักเตือนเป็นครั้งที่ 2 อย่างกัลยาณมิตรที่มีความหวังดีว่า ไม่ควรใช้ชีวิตด้วยความประมาท แต่พระฉันนะสวนกลับ ว่า ท่านเป็นใครถึงได้มาเตือนข้าพเจ้า และบอกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พาพระพุทธองค์ออกผนวชนะ ไม่ใช่ท่าน เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องมาเตือนข้าพเจ้า ซึ่งนั่นทำให้พระอานนท์ได้ฟังคำที่พระฉันนะโต้ปากกับพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรทั้งหมดไม่อาจนิ่งเฉยได้ จึงไปกราบทูลต่อพระพุทธเจ้า เรื่องที่พระฉันนะเป็นพระที่ดื้อดึงสอนยาก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเตือนด้วยความหวังดีก็ไม่ฟัง    

          เมื่อพระพุทธเจ้าได้ฟังเรื่องราวจากพระอานนท์ก็ได้เรียกพระฉันนะมาตักเตือนอบรมว่า การคบกัลยาณมิตรที่ดีเป็นบุญสูง เมื่อกัลยาณมิตรเป็นมิตรที่คอยตักเตือนก็เป็นเรื่องที่ดี ควรคบหาด้วย ส่วนมิตรที่ไม่ดีก็ควรถอยห่าง ซึ่งพระฉันนะก็ก้มหน้ารับฟัง แต่พอลับหลังพระพุทธเจ้าก็ทำตัวกร่างและไม่สนใจคำตักเตือนของภิกษุรูปอื่นเช่นเดิม เพราะพระฉันนะเชื่อฟังพระพุทธเจ้าแค่องค์เดียว ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เรียกพระฉันนะมาตักเตือนถึง 3 ครั้ง ก็เลิกเตือนเพราะอาจารย์ที่นี่จะเตือนลูกศิษย์ไม่เกิน 3 ครั้ง หากเกิน 3 ครั้งถือว่าเลิกเตือน เพราะนั่นหมายความว่าเป็นผู้ที่หนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส

3. พระฉันนะถูกลงโทษด้วยการพรหมทัณฑ์ หลังพระพุทธเจ้าดับขันธ์ กระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

          พระฉันนะยังคงทำพฤติกรรมแบบเดิม ๆ จนกระทั่งถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ก่อนปรินิพพานว่า ขณะที่พระพุทธเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่ พระฉันนะจะไม่เชื่อฟัง แต่หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ให้พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทำพรหมทัณฑ์พระฉันนะ นั่นก็คือการที่พระภิกษุไม่ต้องเสวนา ไม่ต้องพูดคุย ไม่ต้องสั่งสอนพระฉันนะ หากพระฉันนะอยากทำอะไรก็ให้ทำไป ซึ่งเวลานั้นพระฉันนะ อยู่ที่วัดโฆสิตาราม นครโกสัมพี

          หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ก็ประชุมกัน โดยมีพระอานนท์เป็นประธานในการประชุม และได้ถ่ายทอดคำสั่งของพระพุทธเจ้าที่มีต่อพระฉันนะให้ทุกคนได้รับรู้ และให้พระทั้งหมดจำนวน 500 รูป เดินทางไปที่วัดโฆสิตาราม นครโกสัมพี และเริ่มการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ โดยการไม่สุงสิง ไม่ใส่ใจ ไม่ทำสังฆกรรมด้วย ไม่พูดคุยด้วย ถ้าไม่จำเป็น ไม่คบค้าสมาคม จนกว่าพระฉันนะจะเปลี่ยนพฤติกรรม    

          จากนั้นเมื่อพระภิกษุทั้งหมดเดินทางไปถึง ได้เรียกพระฉันนะมานั่งท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งเมื่อพระฉันนะอยู่ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์มาก ๆ ก็ไม่กล้าอวดดี ซึ่งเมื่อพระอานนท์กล่าวว่า จะทำการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ พร้อมอธิบายความหมายให้พระฉันนะได้ฟัง ก็ทำให้พระฉันนะสลบหมดสติสลับกับฟื้นถึง 3 ครั้ง

          จากการที่พระฉันนะถูกลงพรหมทัณฑ์ ทำให้พระฉันนะแยกตัวออกจากหมู่สงฆ์และเข้าป่าไปทำสมาธิค้นหาตัวเอง ซึ่งระหว่างนั้นทำให้พระฉันนะเกิดนิมิตเห็นภาพตนเองขณะที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ แต่ตนเองก็ไม่ฟังคำตักเตือน

          ซึ่งตอนนี้ตนเองก็อายุ 80 ปีแล้ว ที่ผ่านมามัวแต่ทำอะไรอยู่ พระฉันนะได้เฝ้าถามตัวเองไปมาจนสามารถคิดได้และสามารถบรรลุหลักธรรมถึงขั้นอรหันต์ได้ จากนั้นพระฉันนะจึงกลับไปพบพระอานนท์และขอให้พระอานนท์เลิกลงพรหมทัณฑ์ ซึ่งพระอานนท์ได้ตอบกลับว่า เมื่อพระฉันนะบรรลุถึงอรหันต์แล้วการลงพรหมทัณฑ์ก็จะยกเลิกไปเอง

          หลังจากได้ทราบประวัติของพระฉันนะ ซึ่งตอนแรกแม้จะปฏิบัติตนดื้อดึง ไม่ฟังคำตักเตือนแต่สุดท้ายก็สามารถลดทิฐิในใจลงได้ไปแล้วนั้น ทำให้รู้ว่าการทำตนเป็นคนว่ายาก สอนยากจะเป็นคนที่อยู่ลำบาก ดังนั้นจึงควรประพฤติตนให้ว่าง่าย สอนง่าย เปิดใจรับคำสอนและคำตักเตือนดี ๆ ก็จะเป็นที่รักคนผู้อื่นได้ไม่ยาก


ภาพจาก  DrSomchaiV,   atom.rmutphysics.com
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากgotoknow.org,  เฟซบุ๊ก ธรรมะจากเพื่อนร่วมบุญ


  


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉันนะ ประวัติพระผู้ดื้อดึงว่านอนสอนยาก ผู้กลายเป็นพระอรหันต์ อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2559 เวลา 14:31:14 89,251 อ่าน
TOP
x close