คําถวายเทียนพรรษา พร้อมคําแปล และขั้นตอนการถวายเทียนพรรษา ทำอย่างไร

 
           คําถวายเทียนพรรษา และขั้นตอนการถวายเทียนพรรษา เนื่องในวันเข้าพรรษา ต้องกล่าวอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก

 เทียนพรรษา
ภาพจาก : 
PSitthipong / Shutterstock

          หากพูดถึงวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือวันที่พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง หรือพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและการถวายเทียนพรรษา


การถวายเทียนพรรษา


          การถวายเทียนพรรษา เป็นเทียนที่มีขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น เพื่อจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา เพราะมีความเชื่อว่าการถวายเทียนพรรษาเป็นการให้ทานด้วยแสงสว่าง ถือเป็นกุศลทานอย่างหนึ่ง จะทำให้เพิ่มพูนปัญญา หูตาสว่างไสว รวมทั้งเป็นการถวายเทียนเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งขั้นตอนและคำถวายเทียนพรรษามีวิธีการอย่างไรบ้าง ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันค่ะ

เทียนพรรษา

ขั้นตอนการถวายเทียนพรรษา


          สำหรับประเพณีการถวายเทียนพรรษา เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะทำการหล่อเทียนพรรษา เมื่อหล่อเสร็จแล้วจะมีการนำเทียนแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ ก่อนถวายพระ
 
          ทั้งนี้ จะเริ่มถวายเทียนก่อนถึงวันเข้าพรรษา โดยสามารถแบ่งประเพณีการถวายเทียนพรรษาออกเป็น 2 ประเภท คือ

          1. ประเพณีหลวง หรือการพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงหล่อเทียนพรรษาด้วยพระองค์เอง และเสด็จพระราชดำเนินทรงจุดบูชาพระรัตนตรัยเฉพาะพระอารามหลวงที่สำคัญ และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์
 
          2. ประเพณีราษฎร หรือเทียนจำนำพรรษา หรือที่เรียกกันว่า เทียนพรรษา คือ การที่ประชาชนเป็นผู้หล่อเทียนจำนำพรรษา มี 2 ชนิด คือ เทียนพรรษาแบบจุดได้ กับเทียนพรรษาแบบจุดไม่ได้ ซึ่งทำขึ้นมาเพื่อประกวดหรือถวายเป็นพุทธบูชาเท่านั้น

เทียนพรรษา


คำถวายเทียนพรรษา พร้อมคำแปล


ไหว้พระ


          นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
 
          ยัคเฆ ภันเต, สังโฆ ปะฏิชานาตุ,
          มะยัง ภันเต, เอตัง ปะทีปะยุคัง,
          สะปะริวารัง, เตมาสัง, พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ, 
          อิมัสสะหมิง อะโปสะถาคาเร, นิยยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, 
          อะยัง เตมาสัง, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, ปะทีปะยุคัสสะ, 
          ทานัสสะ, อานิสังโส, อัมหากัญเจวะ, 
          มาตาปิตุอาทีนัญจะ, ปิยะชะนานัง, ทีฆะรัตตัง
          หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

          ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ

เทียนพรรษา

          หลังจากรู้ขั้นตอน ความสำคัญ และคำถวายเทียนพรรษากันไปแล้ว ทำให้รู้ว่าการถวายเทียนพรรษา นอกจากจะเป็นการสร้างบุญกุศล สร้างประโยชน์ให้กับพระภิกษุที่จำพรรษา ให้ได้อ่านหนังสือ คัมภีร์ต่าง ๆ แล้ว ยังถือเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานานตามลักษณะของท้องถิ่นต่าง ๆ โดยประเพณีการแห่เทียนพรรษาที่ขึ้นชื่อมากที่สุดก็คือ การแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คําถวายเทียนพรรษา พร้อมคําแปล และขั้นตอนการถวายเทียนพรรษา ทำอย่างไร อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2566 เวลา 14:06:56 477,312 อ่าน
TOP
x close