"สวนสัตว์มนุษย์" ความอัปยศแห่งการเหยียดผิวจากอดีต เมื่อคนไม่ถูกมองว่าเป็นคน

สวนสัตว์มนุษย์

            ยามไปเยี่ยมชมสวนสัตว์ นักท่องเที่ยวต่างก็ได้เพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจกับสัตว์นานาชนิด ยิ่งเป็นสัตว์แปลก ๆ ที่ไม่สามารถหาพบในประเทศของตนได้ก็ยิ่งน่าดูน่าสนใจเข้าไปใหญ่ ว่าแล้วก็ต้องขอบคุณผู้ที่ริเริ่มทำสวนสัตว์ขึ้นมาเป็นคนแรก ที่ได้รวบรวมสัตว์นานาชนิดมาให้ชม แต่สำหรับสวนสัตว์ในแบบที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คงไม่น่าควรคู่แก่คำชื่นชมแน่ ๆ เมื่อสิ่งที่เขานำมาจัดแสดงนั้น คือ "มนุษย์" และนี่คือ "สวนสัตว์มนุษย์" ความอัปยศจากอดีตที่มนุษย์บางกลุ่มเป็นผู้ก่อ สะท้อนการเหยียดผิวและหยามชาติพันธุ์อย่างเลวร้ายที่สุด

สวนสัตว์มนุษย์

            "สวนสัตว์มนุษย์" (Human Zoo) มีชื่อเรียกอย่างสวยหรูว่า "นิทรรศการชาติพันธุ์" ไม่มีหลักฐานแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นแห่งใดเป็นที่แรก แต่ก็เริ่มมีขึ้นในประเทศแถบตะวันตกนับตั้งแต่ยุคการค้นพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นต้นมา (ราว ค.ศ.1500s) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องเรือสำรวจและล่าอาณานิคม ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมจัดแสดง "มนุษย์" กันอย่างครึกครื้น ในช่วงปี ค.ศ.1870s-1930s ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันตกทั้งหลาย อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมทั้งอเมริกา โดยนำชนพื้นเมืองทั้งผิวเหลืองและผิวสี จากพื้นที่หรือประเทศที่ตัวเองรุกรานยึดครองไว้ได้ ทั้งชาวแอฟริกา บรรดานิโกร ชนพื้นเมืองเอเชีย อาทิ ชาวเกาะชวา ชาวเกาะนิวกินี ฯลฯ ตลอดจนชนพื้นเมืองของอเมริกา มาแสดงโชว์ 

สวนสัตว์มนุษย์

            แม้จะจัดขึ้นโดยอ้างจุดประสงค์ "เพื่อการศึกษา" แต่รูปแบบและวิธีการก็สะท้อนการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยกันอย่างร้ายกาจ ราวกับพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่คน ด้วยการจับชาวพื้นเมืองใส่กรงทำคอกกั้นไม่ต่างจากขังสัตว์ใว้ให้คนดู ซึ่งเหล่าผู้ชมนั้นก็คือบรรดาชาวตะวันตกหรือพวกคน "ผิวขาว" ที่มุงดูคนที่ "แตกต่างจากพวกเขา" อย่างอยากรู้อยากเห็น

สวนสัตว์มนุษย์

            หลายครั้งที่ชาวพื้นเมืองถูกนำมาจัดแสดงในสภาพเปลือยล่อนจ้อนหรือมีอาภรณ์ปกปิดเพียงช่วงล่วง อันยิ่งทำให้เหล่าคนซึ่งเรียกตัวเองว่าผู้เจริญแล้ว มองคนเหล่านี้แตกต่างและอยู่ต่ำต้อยกว่าตนเข้าไปใหญ่ ชาวตะวันตกในขณะนั้นมองผู้คนเหล่านี้ว่า เป็นมนุษย์ที่อยู่ในช่วงระหว่างวิวัฒนาการจากมนุษย์ลิง ก่อนจะกลายเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบเยี่ยงพวกตนเท่านั้นเอง

สวนสัตว์มนุษย์

ตัวอย่างสวนสัตว์มนุษย์

            - ปี 1878 และ 1889 งานปาริเซียง เวิลด์ส แฟร์ ในฝรั่งเศส นำชาวผิวสีกว่า 400 คน มาจัดแสดงในส่วนที่เรียกว่า "หมู่บ้านนิโกร"

            - ปี 1896 สวนสัตว์ซินซินนาติในอเมริกา จัดแสดงชาวอินเดียนแดงเผ่าซู (Sioux)

            - ปี 1899 นิทรรศการ "Savage South Africa" ในอังกฤษ นำชนเผ่าซูลูมาจัดแสดง ให้พวกเขาติดเกราะ ถือหอก แสดงการสู้รบกัน ให้นักท่องเที่ยวชม

            - ปี 1904 งานเซนต์ หลุนส์ เวิลด์ส แฟร์ ในรัฐมิสซูรีของอเมริกา จัดแสดงนิทรรศการ "กระบวนการวิวัฒนาการ" ดยจัดให้ชนพื้นเมืองฟิลิปปินส์และอินเดียนแดง มีวิวัฒนาการต่ำกว่าคนผิวขาว ขณะที่ชนเผ่าปิ๊กมี่ เป็นคนที่เพิ่งมีวิวัฒนาการพ้นจากลิง

            - ปี 1906 สวนสัตว์บรองซ์ ในนิวยอร์ก อเมริกา นำชาวเผ่าปิ๊กมี่และโอตา เบงกา จัดแสดงภายในกรงเดียวกับอุรังอุตัง

สวนสัตว์มนุษย์

            ในปัจจุบันนี้ มนุษย์มีการศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องความแตกต่างของชาติพันธุ์ "สวนสัตว์มนุษย์" จึงค่อย ๆ ลดลงและเริ่มหายจากไป แต่ใช่ว่าการเหยียดผิวและความแตกต่างทางเชื้อชาติจะจางหายไปด้วย นิทรรศการที่จัดขึ้นเสียดสีคนยุคปัจจุบัน ที่แสร้งทำเหมือนว่าโลกสมัยนี้ไม่มีการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์อีกต่อไปแล้วจึงถูกจัดขึ้น อาทิ ในปี 2005 สวนสัตว์ลอนดอน นำอาสาสมัครเปลือยกาย มีแต่ชุดแต่งกายรูปใบไม้ปิดจุดสงวนท่อนบน-ล่าง ไปใส่ในกรงสัตว์, ปี 2007 สวนสัตว์อะเดเลด ในออสเตรเลีย นำอาสาสมัครมาใส่ในกรงที่เคยให้ลิงอยู่ เป็นต้น

สวนสัตว์มนุษย์

            การเสียดสีเหล่านี้ นอกจากสะท้อนเงาของการกระทำที่หยามศักดิ์ศรีมนุษย์ในอดีตแล้ว ยังสะกิดเราแรง ๆ ให้ฉุกคิดว่า การเหยียดผิวและชาติพันธุ์ยังคงไม่หายไปไหน มันแค่เปลี่ยนรูปแบบไป ส่วนคนเราก็เพียงแค่ทำเป็นฝังลืมมันไว้ในอดีตเท่านั้นเอง

สวนสัตว์มนุษย์

สวนสัตว์มนุษย์

สวนสัตว์มนุษย์

สวนสัตว์มนุษย์



ภาพจาก atlantablackstar.com , abagond.wordpress.com
ขอบคุณข้อมูลจาก 
, atlantablackstar.com , the-open-mind.com , rasoolurrahmah.wordpress.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"สวนสัตว์มนุษย์" ความอัปยศแห่งการเหยียดผิวจากอดีต เมื่อคนไม่ถูกมองว่าเป็นคน อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2558 เวลา 18:02:58 88,114 อ่าน
TOP
x close