
ชาวอุยกูร์ : ภาพจาก Pete Niesen / Shutterstock.com
อุยกูร์ คือใคร เหตุใดจึงถูกเชื่อมโยงกับ เหตุระเบิดราชประสงค์ มาตามไปถอดรหัสปมดังกล่าวร่วมกัน พร้อมทำความรู้จักกับ กลุ่มอุยกูร์สืบเนื่องจากเหตุระเบิดราชประสงค์ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบที่มีเจตนามุ่งเอาชีวิต โดยคนร้ายได้นำระเบิดมาวางไว้บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมและเป็นจุดที่มีคนพลุกพล่าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางตำรวจได้แพร่ภาพจากกล้องวงจรปิด เผยให้เห็นผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าน่าจะเป็นชาวต่างชาติ จนทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเหตุระเบิดดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงกับ กลุ่มอุยกูร์ หรือไม่
ถึงแม้ว่าชื่อของ อุยกูร์ จะกลายมาเป็นชื่อที่คุ้นหูชาวไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่คงมีคนไม่น้อยที่สงสัยว่า อุยกูร์คือใคร และเหตุใดจึงถูกนำมาโยงกับเหตุความไม่สงบในครั้งนี้ กระปุกดอทคอมจึงขอพาทุกคนไปร่วมถอดรหัส อุยกูร์ เหตุใดจึงถูกเชื่อมโยงกับเหตุบึ้มกลางกรุง ด้วยกันค่ะ
อุยกูร์ คือใคร
ก่อนที่จะเข้ามาร่วมไขปมดังกล่าวเราคงต้องเริ่มจากการทำความรู้จักกับคนกลุ่มนี้ก่อนว่า อุยกูร์คือใคร สำหรับ อุยกูร์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ "เตอร์กิช" หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตุรกีที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ที่ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่กันมากที่สุด ก็คือเขตปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นถิ่นอาศัยอยู่ดั้งเดิมของชาวอุยกูร์นับตั้งแต่ก่อนที่ดินแดนดังกล่าวจะตกอยู่ในการครอบครองของประเทศจีน แต่ปัจจุบันชาวอุยกูร์กลับต้องใช้ชีวิตอย่างคับแค้นภายใต้สิทธิ์ที่ถูกจำกัดจำเขี่ย ถูกชาวฮั่นแย่งอาชีพ แย่งพื้นที่เศรษฐกิจ จีนยังไม่ยอมรับวัฒนธรรมและการนับถือศาสนาของชาวอุยกูร์ ใช้นโยบายเข้มงวดในการดำเนินการกับชาวอุยกูร์ ปราบปรามผู้ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง ทำให้ชาวอุยกูร์หลายคนตัดสินใจลี้ภัยออกจากจีนไปยังดินแดนอื่น ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ยินดีอ้าแขนรับกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ก็คือตุรกีซึ่งใช้ภาษาเตอร์กิชเช่นเดียวกันนั่นเอง [เปิดเบื้องหลังปมขัดแย้ง ชาวอุยกูร์คือใคร ทำไมไทยจึงโดนประณาม ?]

เขตปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน : ภาพจาก rfa.org
ปมความขัดแย้ง ไทย อุยกูร์
ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยได้มีการดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อปราบปรามปัญหาผู้ลักลอบเข้าประเทศไทย โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ทางการไทยได้จับกุมกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากที่หลบซ่อนในจังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาได้มีการพิสูจน์สัญชาติพบว่าประมาณ 109 คนในกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองดังกล่าว เป็นกลุ่มผู้อพยพชาวอุยกูร์จากจีน จึงได้ดำเนินการส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์กลุ่มนี้กลับประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม 2558 แม้ว่าหลายภาคส่วนจะเกิดความกังวลว่าปัญหาชาวอุยกูร์นี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ตาม
และสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลก็เริ่มส่อเค้า เมื่อสหภาพยุโรปและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ได้ออกแถลงการณ์ประณามไทยที่ส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับจีน ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลหลายข้อและผู้อพยพเหล่านั้นมีโอกาสถูกทางการจีนปฏิบัติด้วยความรุนแรง
กระทั่งต่อมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นครอิสตันบูล ก็ได้ถูกกลุ่มผู้ประท้วงชาวอุยกูร์ในประเทศตุรกี บุกรุกเข้ามาทำลายทรัพย์สินภายในสำนักงาน เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการดำเนินการของไทยที่ส่งชาวอุยกูร์เข้าไทยผิดกฎหมายกลับจีน จนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ต้องออกมาประกาศเตือนคนไทยในตุรกีให้ระมัดระวังตัว และจากนั้นอีกไม่กี่วันต่อมา ก็ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวตุรกีในสหรัฐฯ ออกมารวมตัวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อประท้วงทางการไทยจากการส่งตัวผู้อพยพกลับจีนด้วย
ชาวอุยกูร์บุกโจมตีสถานกงสุลไทยในตุรกี : ภาพจาก Yoret Lezit
เหตุระเบิดราชประสงค์
เมื่อช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. วันที่ 17 สิงหาคม 2558 ได้เกิดเหตุที่สร้างความสะเทือนขวัญและก่อให้เกิดความเศร้าโศกอย่างมาก เมื่อมีผู้ไม่ประสงค์ดีก่อเหตุวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำเนิน บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตชาวไทยและต่างชาติรวม 20 ราย และบาดเจ็บอีก 130 ราย ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากทั้งต่อทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และจิตใจของประชาชนชาวไทย ขณะที่ไทยได้ดำเนินการออกหมายจับชายชุดเหลือง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยนำระเบิดมาวางไว้บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณก่อนหลบหนีไปแล้ว พร้อมตั้งเงินรางวัลนำจับ 1,000,000 บาท

เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ : ภาพจาก AIDAN JONES / AFP

เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ : ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ : ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP
สื่อนอกตั้งข้อสังเกต ระเบิดราชประสงค์ อาจเกี่ยวปม อุยกูร์
จากเหตุระเบิดราชประสงค์ที่เกิดขึ้น บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวด้านการทูตและการทหารของสำนักข่าวบีบีซี ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไม่เคยมีเหตุการณ์การโจมตีครั้งใหญ่และมีเจตนามุ่งร้ายขนาดนี้ ประกอบกับศาลพระพรหมเอราวัณยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน จึงอาจเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอุยกูร์ ซึ่งมีปมความขัดแย้งก่อนหน้านี้หลังจากไทยดำเนินการส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับจีน แม้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการเหล่านี้นอกประเทศจีน ไม่น่าจะรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ออกมาบอกปัดประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ใช่ว่าใบหน้าของผู้ต้องสงสัยเหมือนชาวต่างชาติแล้วจะต้องเป็นชาวอุยกูร์เสมอไป อาจเป็นชาวต่างชาติที่ร่วมมือกับคนไทยเป็นได้ อีกทั้งที่ผ่านมาหลายประเทศที่ไม่รับผู้อพยพก็เคยส่งชาวอุยกูร์กลับจีนเช่นกัน แต่ก็ไม่เห็นจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น
ไทย รับระเบิดราชประสงค์ อาจโยงขบวนการขน อุยกูร์
แม้ตลอดระยะเวลาของการคลี่คลายคดี รัฐบาลไทยพยายามปฏิเสธความเชื่อมโยงเหตุระเบิดราชประสงค์กับกลุ่ม อุยกูร์ แต่แล้วหลังจากที่ตำรวจและทหารสามารถจับกุมผู้ต้องหาชายชาวต่างชาติรายแรกได้จากอพาร์ทเม้นท์ย่านหนองจอก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 พร้อมพบหลักฐานเป็นอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดจำนวนมาก ก่อนทำการขยายผลไปจนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาร่วมขบวนการได้เพิ่มเติม ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้ออกมายอมรับว่า เหตุระเบิดราชประสงค์อาจเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำชาวอุยกูร์เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเสียผลประโยชน์จากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ตำรวจยังเชื่อมั่นว่าไม่น่าเป็นการก่อการร้ายข้ามชาติ


แม้ตลอดระยะเวลาของการคลี่คลายคดี รัฐบาลไทยพยายามปฏิเสธความเชื่อมโยงเหตุระเบิดราชประสงค์กับกลุ่ม อุยกูร์ แต่แล้วหลังจากที่ตำรวจและทหารสามารถจับกุมผู้ต้องหาชายชาวต่างชาติรายแรกได้จากอพาร์ทเม้นท์ย่านหนองจอก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 พร้อมพบหลักฐานเป็นอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดจำนวนมาก ก่อนทำการขยายผลไปจนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาร่วมขบวนการได้เพิ่มเติม ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้ออกมายอมรับว่า เหตุระเบิดราชประสงค์อาจเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำชาวอุยกูร์เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเสียผลประโยชน์จากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ตำรวจยังเชื่อมั่นว่าไม่น่าเป็นการก่อการร้ายข้ามชาติ


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
