คงไม่มีใครอยากจะรับมือกับเหตุการณ์ระเบิดไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม แต่เหตุระเบิดก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คงทำให้เราได้ตระหนักกันแล้วนะคะว่า ภัยสังคมและภัยก่อการร้ายอย่างการลอบวางระเบิดเป็นเรื่องใกล้ตัวเราไม่น้อยเลยทีเดียว ฉะนั้นจะดีกว่าไหมหากเราจะมาเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเมื่อเจอระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นระเบิด เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและคนรอบข้างค่ะ
วัตถุต้องสงสัย คือ สิ่งของหรือวัสดุสักชิ้น ซึ่งอาจมาในรูปแบบหีบห่อ กล่องพัสดุ กล่องกระดาษ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเป้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่คาดว่าจะบรรจุวัตถุระเบิดมาได้ โดยจุดสังเกตที่จะทำให้ทราบได้ว่า วัตถุต้องสงสัยนั้นเป็นระเบิดหรือไม่ สามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
- เป็นสิ่งของหรือวัสดุที่ไม่มีเจ้าของ
- ไม่เคยเห็นว่าอยู่ตรงนี้มาก่อน
- วางผิดที่ผิดทาง ไม่ใช่ของที่ควรจะอยู่ในจุดจุดนั้น
- ลักษณะเหมือนเป็นของที่มีน้ำหนักมากเกินขนาด
- ซองจดหมายมีลักษณะแข็ง พับงอไม่ได้
- ห่อพัสดุหรือจดหมายพองบวมผิดปกติ
- วัตถุชนิดนั้น ๆ มีสายไฟเส้นเล็กยื่นออกมา
- ลักษณะของหีบห่อมีความหนาแน่นเกินความจำเป็น
- มีคราบน้ำมันหรือลักษณะกระดาษของหีบห่อมีสีซีดจาง
- หากเป็นพัสดุหรือจดหมายจะไม่ระบุชื่อผู้ส่ง หรืออาจเป็นวัสดุที่ส่งมาจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว
- มีการเขียนข้อความหรือติดภาพที่เรียกร้องความสนใจ
- พัสดุติดแสตมป์มากเกินขนาด (โดยเฉพาะไปรษณีย์ภายในประเทศ)
- มีการทำเครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ บนซอง
- ในกรณีที่เป็นจดหมาย ลายมือเขียนจ่าหน้าซองมักจะไม่เป็นระเบียบหรืออาจสะกดคำผิด ๆ ถูก ๆ หรือบางทีก็ระบุตำแหน่งและยศของผู้รับไม่ถูกต้อง
- หากตัวเรามีกรณีขัดแย้งกับใครควรสงสัยและระมัดระวังวัตถุต้องสงสัยมากเป็นพิเศษ
1. เมื่อพบวัตถุต้องสงสัย ให้ตั้งสติ และรีบออกจากพื้นที่เสี่ยงทันที ห้ามแตะต้องหรือเคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัยโดยเด็ดขาด
2. โทร. แจ้งตำรวจที่หมายเลข 191 หรือโทร. แจ้งกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ที่หมายเลข 02-2961946
3. พยายามอยู่ห่างวัตถุระเบิดอย่างน้อย 300 เมตรขึ้นไป ในทิศทางเหนือลม โดยยึดหลักยิ่งไกลยิ่งปลอดภัย
4. หากวัตถุนั้นเกิดประกายไฟ หรือระเบิด ให้หลบหลังที่กำบังที่แข็งแรง
5. หากอยู่ในบ้าน หรือในอาคาร ให้ปิดเครื่องปรับอากาศ และสวมเสื้อผ้ามิดชิด เพื่อป้องกันอันตราย
6. หากติดอยู่ภายในอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุดช่องประตูเพื่อป้องกันแก๊สพิษ
7. หากมีการเคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัยแล้ว หรือเป็นวัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ ให้นำไปวางในที่โล่ง เช่น สนามหญ้าหรือในที่ร่ม และอย่าให้วัตถุหรือกล่องสัมผัสกับแสงแดดและความร้อนจัดโดยตรง จากนั้นให้ใช้ยางรถยนต์ครอบไว้หรือปิดล้อมด้วยกระสอบทราย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กลุ่มงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD) กก.ตชด.14
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เฟซบุ๊กอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์