5 ภัยเสี่ยงควรระวังวันลอยกระทง รู้ไว้ก่อนเกิดเรื่อง

          วันลอยกระทง ทุกปีกลับมีข่าวน่าเศร้าจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มาเรียนรู้วิธีรับมือกับอุบัติเหตุ และวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดความสูญเสียในช่วงเทศกาล
วันลอยกระทง
ภาพจาก GOLFX/Shutterstock.com

          เทศกาลลอยกระทง อีกหนึ่งเทศกาลของไทยที่เต็มไปด้วยความรื่นเริง และการเฉลิมฉลอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า วันลอยกระทงเป็นอีกวันหนึ่งที่มีการเกิดอุบัติเหตุขึ้นสูงเมื่อเทียบกับวันธรรมดา เนื่องจากผู้คนมากมายต่างออกมาลอยกระทง และเลี้ยงสังสรรค์กัน แม้ว่าจะมีมาตรการออกมาเพื่อป้องกันการอุบัติเหตุเหล่านี้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะหลาย ๆ คนหลงลืมที่จะใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง
 
          วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะพาทุกคนไปรับทราบถึงภัยเสี่ยงที่อาจเกิดได้ในช่วงเทศกาลลอยกระทง พร้อมวิธีป้องกัน และวิธีปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ แม้ว่าอุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าหากรู้วิธีเหล่านี้ไว้ ก็ทำให้เราสามารถช่วยผู้ประสบเหตุได้ทันท่วงที ลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ 

อุบัติเหตุทางจราจร

          แม้ว่าเทศกาลลอยกระทงจะไม่ใช่เทศกาลที่มีวันหยุดยาว แต่อุบัติเหตุทางจราจรก็มักเกิดขึ้นได้บ่อยเช่นกัน เพราะจะมีคนจำนวนมากออกมาลอยกระทงและเที่ยวตามงานที่จัดในสถานที่ต่าง ๆ ทำให้มีพาหนะบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บางคนอาจถือโอกาสเลี้ยงสังสรรค์และดื่มของมึนเมาอีกด้วย ทำให้โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่และคอยดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

          - วิธีปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน

          ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน หากเกิดการเฉี่ยวชนระหว่างรถยนต์ด้วยกันเอง ผู้ขับขี่ไม่ควรใช้อารมณ์และควรโทรศัพท์เรียกบริษัทประกันภัยมาจัดการเรื่องเองจะดีกว่า เพราะการจัดการกันเองโดยไม่มีคนกลาง อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท หรือถ้าในบริเวณดังกล่าวมีตำรวจจราจรอยู่ด้วย ควรแจ้งเรื่องให้กับเจ้าหน้าที่ทราบค่ะ

          แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เฉี่ยวชนกันจนมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ผู้เห็นเหตุการณ์ไม่ควรเข้าไปเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บด้วยตัวเอง ควรโทรศัพท์เรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือกู้ภัยมาทำการช่วยเหลือ เนื่องจากการเข้าไปเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยไม่มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาลอาจจะทำให้ผู้บาดเจ็บอาการรุนแรงกว่าเดิม แต่ถ้ามีบาดแผลเลือดออกให้นำผ้าสะอาดปิดที่แผลให้แน่นเพื่อเป็นการห้ามเลือดจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง

วันลอยกระทง

อุบัติเหตุจากโคมลอย

          นอกจากการลอยกระทงแล้ว ปัจจุบันนี้ในเทศกาลลอยกระทงยังนิยมลอยโคมลอยอีกด้วยเนื่องจากมีความเชื่อว่าจะช่วยลอยทุกข์โศกออกไปจากชีวิต และถึงแม้จะเป็นประเพณีของทางภาคเหนือที่มีมาตั้งแต่โบราณ แต่ก็ถือเป็นประเพณีที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ เหตุเพลิงไหม้ได้ เพราะเมื่อโคมลอยนั้นไปตกบนหลังคาบ้าน ก็อาจจะทำให้เกิดการไหม้ หรือหากไปติดกับสายไฟฟ้า ก็อาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร นอกจากนี้การลอยโคมลอยก็ยังไปขัดขวางการจราจรทางอากาศ เป็นอันตรายต่อเครื่องบิน ดังนั้นวิธีที่ปลอดภัยคือ หลีกเลี่ยงการลอยโคมลอยในพื้นที่ชุมชน หรือถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงไปเลยจะดีที่สุดเพื่อความปลอดภัย

อุบัติเหตุจากประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ
         
          วันลอยกระทง เป็นอีกหนึ่งวันที่มีการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟกันเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายห้ามแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงพบว่าผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเล่นประทัด และดอกไม้ไฟอยู่ทุกปี โดยเฉพาะเด็กวัย 10-14 ปี ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันก็คือผู้ปกครองควรอธิบายถึงอันตรายจากประทัดและดอกไม้ไฟต่าง ๆ และควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณที่มีการเล่นดอกไม้ไฟ ซึ่งระยะที่ปลอดภัยที่ดีที่สุดคือ 10 เมตรขึ้นไป

          - วิธีปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ

          เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากประทัด หรือดอกไม้ไฟขึ้น ทางที่ดีที่สุดควรเรียกหน่วยกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพราะอุบัติเหตุจากประทัดและดอกไม้ไฟนั้นเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรง โดยถ้าหากเกิดบาดแผลจากความร้อนควรชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผล หรือให้น้ำไหลผ่านเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แล้วนำผ้าสะอาดมาปิดบริเวณแผลไว้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ที่สำคัญห้ามนำน้ำมัน โลชั่น ยาสีฟัน หรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด นอกจากนี้ยังควรถอดเครื่องประดับออกเพราะหากปล่อยไว้มือหรือนิ้วมืออาจจะบวมจนถอดเครื่องประดับยาก และถ้าหากมีบาดแผลฉีกขาดควรรีบห้ามเลือดด้วยการนำผ้าสะอาดกดบริเวณบาดแผล

          อีกอาการบาดเจ็บหนึ่งที่มักจะพบเมื่อเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวก็คืออวัยวะฉีกขาด เบื้องต้นควรรีบเก็บอวัยวะที่ขาดไปล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปแช่น้ำแข็ง โดยหากเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ จะต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดภายใน 6 ชั่วโมง แค่ถ้าหากเป็นบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้ออย่างนิ้วมือสามารถเก็บไว้ได้ 12-18 ชั่วโมง หากบาดเจ็บที่ตาด้วยก็ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากอย่างทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้อาการทวีความรุนแรงขึ้น

วันลอยกระทง

อุบัติเหตุทางน้ำ

          อุบัติเหตุทางน้ำที่พบได้บ่อยที่สุดคือการตกน้ำและจมน้ำ เนื่องจากต้องไปเบียดเสียดกันที่บริเวณท่าน้ำเพื่อลอยกระทง ทำให้อาจเกิดการจมน้ำได้ ฉะนั้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ ควรยืนให้ห่างจากน้ำเล็กน้อย และควรสังเกตถึงสภาพบริเวณท่าน้ำให้ดีก่อน หากอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้หากผู้ปกครองนำเด็กไปด้วยควรให้เด็กยืนอยู่บนฝั่งที่ปลอดภัยจะดีที่สุด

          - วิธีปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุทางน้ำ

          ในกรณีที่พบผู้ตกน้ำหรือกำลังจะจมน้ำ ก่อนทำการช่วยเหลือควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองเป็นสำคัญ และถ้าหากไม่มีความรู้เรื่องการช่วยเหลือคนจมน้ำ ก็ไม่ควรลงไปช่วยด้วยตัวเอง โดยในเบื้องต้นควรหาอุปกรณ์ที่สามารถให้ผู้จมน้ำยึดจับได้ก่อน เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วง หรือไม้ตะขอ หรือโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ให้เกาะ อาทิ ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ เป็นต้น แต่ถ้าหากต้องกระโดดลงไปช่วยควรระมัดระวังให้มากเพราะผู้ที่จมน้ำอาจจะตกใจจนทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือเป็นอันตราย

          ทั้งนี้หากช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำขึ้นมาแล้ว หากผู้ประสบอุบัติเหตุสามารถหายใจเองได้ ควรจับผู้ป่วยตะแคงข้างให้ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกจากปาก และหาผ้าห่มแห้ง ๆ คลุมเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้สติ ควรทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธี CPR ทั้งนี้ผู้ปฐมพยาบาลควรมีความรู้ เพราะหากทำโดยไม่มีความรู้อาจจะทำให้ยิ่งเกิดอันตรายได้

วันลอยกระทง
ภาพจาก GOLFX/Shutterstock.com

อุบัติเหตุพลัดหลง

          การพลัดหลงระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทงเนื่องจากมีคนออกมาลอยกระทงเป็นจำนวนมาก ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และไม่ควรจะปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง และควรสอนให้บุตรหลานทราบด้วยว่าหากเกิดพลัดหลงกับผู้ปกครองควรไปรอที่จุดใด หรือควรไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังควรเขียนชื่อ ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ เก็บเอาไว้ในกระเป๋าของบุตรเพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือ


          เรื่องของอุบัติเหตุ เป็นเรื่องของทุกคนที่จะช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แค่เพียงเราใส่ใจตัวเองและคนรอบข้างให้มากขึ้นกว่าเดิม แค่เพียงเท่านี้งานประเพณีไทย ๆ ที่เต็มไปด้วยความงดงามนี้ก็ยังคงจะเป็นช่วงเวลาที่ดีงามต่อไป ไร้เรื่องเศร้าที่ทำให้เราหมดสนุก

ขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ภัยเสี่ยงควรระวังวันลอยกระทง รู้ไว้ก่อนเกิดเรื่อง อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16:17:42 18,954 อ่าน
TOP
x close