เปิดภาพล่าสุด กอริลลาบัวน้อย ผอ.สวนสัตว์พาต้า ขอเวลาอีก 5 ปี ย้ายกอริลลาบัวน้อยลงพื้นดิน ชี้ต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน ยืนยันดูแล บัวน้อย เป็นอย่างดี
ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีผู้หยิบยกออกมาพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นของ "สวนสัตว์พาต้า" ที่นอกจากล่าสุดจะมีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยภายในสวนสัตว์ หลังพบสะพานผุพัง พื้นที่มีความสกปรกและกระจกแตกร้าวแล้วนั้น [อ่านข่าว แชร์สนั่น สภาพล่าสุด "สวนสัตว์พาต้า" ถามความปลอดภัยอยู่ที่ไหน] อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนยังคงให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือเรื่องของ กอริลลาบัวน้อย ที่กลุ่มคนรักสัตว์ได้ร่วมกันรณรงค์โครงการหาบ้านใหม่ให้ บัวน้อย หลังถูกขังอยู่ในสวนสัตว์ลอยฟ้าพาต้ามานานกว่า 23 ปี
ขณะที่ล่าสุด (18 พฤศจิกายน 2558) คุณพชรปพน พุ่มประพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ทางช่อง 3 ก็ได้มีรายงานความคืบหน้ากรณีของเจ้าบัวน้อย หลังลงสำรวจพื้นที่สวนสัตว์พาต้า โดยได้เผยภาพล่าสุดของ บัวน้อย ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายในกรงกระจกของสวนสัตว์ลอยฟ้า หลังจากถูกนำมาจัดแสดงตั้งแต่ปี 2535 จนปัจจุบันบัวน้อยมีอายุถึง 28 ปีแล้ว
ด้าน นายคณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการสวนสัตว์พาต้า ยืนยันว่า ทางสวนสัตว์ได้ดูแลบัวน้อยเป็นอย่างดี จริง ๆ การย้ายบัวน้อยไปเลี้ยงที่พื้นดินนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก หากมันไม่ได้ทุกข์ทรมานก็น่าจะเลี้ยงบนสวนสัตว์ลอยฟ้าต่อไป แต่ในเมื่อเกิดกระแสเรียกร้องอยากให้ย้ายบัวน้อยลงไป ทางเราก็คงจะต้องขอศึกษาว่าหากจะย้ายกอริลลาบัวน้อยไปสู่พื้นล่าง จะมีความเป็นไปได้อย่างไร เพราะการที่เราเลี้ยงบัวน้อยให้รอดมาได้ก็เพราะได้เรียนรู้ว่าต้องเลี้ยงกอริลลาบนพื้นปูน ซึ่งเมื่อเวลาสัตว์ขับถ่ายเจ้าหน้าที่จะสามารถพ่นยาฆ่าเชื้อโรค กำจัดเชื้อลงท่อระบายน้ำได้หมด แต่การเลี้ยงบนดินทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ จะสะสมอยู่บนดิน แล้วกลับเข้าร่างกายสัตว์ ดังเช่นตัวอย่างจากสิงคโปร์ที่เลี้ยงกอริลลาไม่รอด ก็ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้
สำหรับการเลี้ยงดูบัวน้อยของสวนสัตว์พาต้า บัวน้อยอยู่ในห้องติดกระจก ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อโรค กันคนให้อาหาร ป้องกันเสียงรบกวน และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ นอกจากนี้ส่วนโดมของกรงยังสามารถเปิดรับแสงแดดได้ ทำให้ข่าวที่แพร่ออกไปว่ากอริลลาไม่เห็นเดือนเห็นตะวันนั้นไม่เป็นความจริง
อย่างไรก็ตามมีรายงานระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ต่อใบอนุญาตให้สวนสัตว์พาต้าครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้ว โดยมีเงื่อนไขในการต่ออายุครั้งใหม่ระบุว่า สวนสัตว์พาต้าต้องแก้ไขอุปกรณ์ป้องกันและระงับอัคคีภัยของอาคาร ทำแผนควบคุมปริมาณสัตว์ และย้ายสัตว์ที่เคลื่อนย้ายลำบากลงมายังภาคพื้น ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทางสวนสัตว์ก็เริ่มเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังสถานพักสัตว์นนทบุรีแล้วบางส่วน ขณะที่บัวน้อยก็อยู่ในแผนการเคลื่อนย้ายเช่นกัน แต่ทางสวนสัตว์ยังขอเวลาอีก 5 ปี
โดยนายคณิต เผยว่า การเคลื่อนย้ายกอริลลานั้นมีความเสี่ยงและอันตราย ต้องขอเวลาศึกษาระบบนิเวศว่าหากนำกอริลลาลงไปยังภาคพื้นดินแล้วจะมีปัญหาหรือไม่ จะเกิดเชื้อโรคที่ทำให้เป็นอันตรายหรือไม่ ใช่ว่าอยากให้ย้ายแล้วจะย้ายได้ทันที เป็นไปไม่ได้ เพราะกอริลลาเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวมาก ยิ่งบัวน้อยเป็นตัวเมีย ติดพี่เลี้ยง และชินกับสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่เล็ก หากเราทำการเคลื่อนย้ายอย่างกะทันหัน ก็มีโอกาสที่บัวน้อยจะเครียดและตายสูงมาก ขอเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามหากทุกอย่างพร้อมก็เป็นไปได้ว่าอาจใช้เวลาเพียง 3-4 ปี
ด้าน นางศิลจิรา อภัยทาน ผู้ขับเคลื่อนโครงการหาบ้านใหม่ให้บัวน้อย ระบุว่า ส่วนตัวอยากให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตของสวนสัตว์พาต้า เพราะพวกเธอไม่ต้องการให้มีการสร้างสวนสัตว์บนอาคารอีกต่อไป เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของสัตว์
นางศิลจิรา ยังระบุว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายสวนสัตว์ ที่เป็นบทบัญญัติใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ผ่านมามีระบุแค่สั้น ๆ ว่าจะตั้งสวนสัตว์ได้อย่างไร โดยมีอธิบดีกรมอุทยานลงนามเพียงผู้เดียว ซึ่งแค่นั้นมันไม่พอ ควรจะต้องมีการลงรายละเอียดอื่น ๆ ดังเช่นในต่างประเทศที่มีคู่มือถึงกระบวนการเลี้ยงดูสัตว์บอกไว้ ทั้งนี้การรณรงค์ที่ผ่านมาไม่ได้ทำเพื่อลิงเพียงตัวเดียว แต่ทำเพื่อให้เกิดกฎหมายสวนสัตว์ ซึ่งจะกลายเป็นภาพสะท้อนว่าเมืองไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือไม่
นอกจากนี้กลุ่มอนุรักษ์ยังปรับรูปแบบของการรณรงค์ มาเป็นการให้ความรู้ผ่านวรรณกรรม 2 ภาษา ชื่อหนังสือ "บัวน้อย My Little Lotus" โดยนางศิลจิรา ชี้ว่าการศึกษาจะให้สติปัญญากับสังคมในระยะยาว จะทำให้เยาวชนไทยที่อาจถูกหล่อหลอมด้วยการที่ผู้ใหญ่ป้อนคำตอบในทุก ๆ สิ่ง ได้เกิดคำถามในตัวเอง บัวน้อย เป็นตัวแทนสัตว์ป่า ก็ต้องเป็นที่มาของสัตว์ป่าทุก ๆ ตัวด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าต่าง ๆ ในไทย โดยหนังสือ บัวน้อย My Little Lotus จะมีงานเปิดตัวในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ก่อนแจกจ่ายหนังสือจำนวน 500 เล่มไปยังห้องสมุดของโรงเรียนในสังกัด กทม.
ภาพจาก Pacharapapon, ทวิตเตอร์ @Pacharapapon