วอนอย่าแตกตื่น แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน พบเฉพาะในถ้ำที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ประมาณ 500 ตัว เผยเข้ามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยันแมงมุมไม่มีนิสัยดุร้าย ยังไม่มีรายงานพบในบ้านเรือน
จากกรณีที่นักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการค้นพบ "แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งโดยปกติแล้วแมงมุมชนิดดังกล่าวจะพบในแถบยุโรป อเมริกา และมีระบาดข้ามมาทางเอเชียบ้าง (มีรายงานการกัดที่อินเดีย) แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย สำหรับพิษของมันนั้นมีความรุนแรงระดับโลก โดยสามารถทำให้แผลที่ถูกกัดกลายเป็นเนื้อตายได้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น [อ่านข่าว : ค้นพบแมงมุมชนิดใหม่ระบาดเข้าไทย พิษรุนแรงระดับโลก คลิก]
ล่าสุดวันที่ 20 มกราคม 2559 ที่ห้องประชุม 217 ตึกเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน โดย นายณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน มีพิษรุนแรง โดยผู้ที่ถูกกัดจะมีแผลคล้ายแมลง ยุง มดกัด แต่ถ้าไม่พบแพทย์ใน 1-2 วัน แผลอาจลุกลามติดเชื้อได้ ซึ่งในรายงานของต่างประเทศระบุว่า ผู้ที่ถูกกัดบางรายไม่ไปพบแพทย์ทันทีจนบาดแผลรุนแรงจนเสียชีวิต
นายนรินทร์ ระบุอีกว่า จากการสำรวจภายในถ้ำที่ค้นพบและถ้ำใกล้เคียงอีก 5 ถ้ำ พบว่าแมงมุมชนิดดังกล่าวมีขอบเขตการกระจายตัวแค่เพียงถ้ำที่พบที่แรกแห่งเดียวเท่านั้น คาดว่ามีประมาณ 500 ตัว กระจายตามพื้น และผนังถ้ำ โดยสันนิษฐานว่าแมงมุมชนิดนี้อาจเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยติดเข้ามาระหว่างขนส่งวัสดุและยุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นมายังไทย อีกทั้งถ้ำดังกล่าวยังเป็นสถานที่แห่งเดียวที่ใช้เก็บอุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ การค้นพบครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญทางการแพทย์ในการเป็นข้อมูลในการรักษา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาขั้นสุดท้ายเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานาชาติ
นายนรินทร์ ระบุอีกว่า ถึงแม้ว่าแมงมุมชนิดนี้จะมีชื่อเสียงด้านพิษที่รุนแรง โดยพิษจะส่งผลให้เกิดเนื้อตายก็ตาม แต่ข้อมูลจากงานวิจัยของต่างประเทศที่มีการเก็บสถิติเป็นเวลากว่า 10 ปีนั้น พบว่าคนที่ถูกแมงมุมชนิดนี้กัดมีเพียงร้อยละ 10 ที่มีบาดแผลรุนแรงจนต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย อาทิ แมงมุมปล่อยพิษออกมามาก และผู้ที่ถูกกัดมีภูมิต้านทานต่ำ เป็นต้น ส่วนผู้ที่เสียชีวิตในต่างประเทศพบว่ามีน้อยมาก ซึ่งในประเทศบราซิลมีรายงานเพียงร้อยละ 0.05 หรือ 47 ราย จากผู้ที่ถูกกัดทั้งหมด 91,820 ราย สาเหตุเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นแมงมุมชนิดนี้กัด จึงไม่ได้ทำการรักษา จนเกิดแผลติดเชื้อลุกลามรุนแรง
นอกจากนี้ นายนรินทร์ ระบุว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เนื่องจากแมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยดุร้าย มันมักจะหลบซ่อนตามซอกมุม หากินกลางคืน และพบแค่ในถ้ำ ยังไม่มีรายงานพบในบ้านเรือนประชาชน จึงอยากให้ทราบข้อมูลการกระจายตัวของแมงมุมเพื่อเฝ้าระวังสำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวถ้ำต่าง ๆ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างทำการศึกษาเส้นทางรถไฟในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ทั้งนี้ในประเทศไทยมีแมงมุมที่มีพิษรุนแรงอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล และแมงมุมแม่ม่ายหลังเพลิง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก