
กรธ. ปัดเลือกพิจาณาข้อเสนอ เผยคณะรัฐมนตรีชงปรับแก้ 16 ข้อ ขอประชาธิปไตยครึ่งใบ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หวั่นเกิดโกลาหลเหมือนก่อนรัฐประหาร จนเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลว ค้านแยกศาลรัฐธรรมนูญเป็นหมวดใหม่ กลัวถูกครหาเพิ่มอำนาจ
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการทำงานของ กรธ. ว่าขณะนี้ กรธ. นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่แต่ละฝ่ายเสนอมาประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ 3 แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขบทบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
ส่วนที่มีข่าวว่า กรธ. ให้ความสำคัญเฉพาะความเห็นและข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง กรธ. ให้ความสำคัญกับทุกความเห็น โดยการพิจารณาที่ผ่านมา กรธ. นำความเห็นของประชาชน องค์กรชุมชน และกลุ่มต่าง ๆ มาพิจารณา ส่วนของ ครม. และ สนช. ยังไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรธ. ได้แจกเอกสารข้อเสนอและความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม. ตามที่หนังสือ นร. 0404/1625 ลงนามโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จำนวน 7 หน้า มี 16 ข้อ อาทิ
มาตรา 190 เสนอให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องพิจารณาในศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ควรแก้ให้การอุทธรณ์เป็นสิทธิในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อเป็นระบบ 2 ศาล
นอกจากนี้ ครม. ไม่เห็นด้วยกับการแยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาไว้ในหมวด 11 เพราะอาจสร้างความเข้าใจว่า เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ และควรแก้ไขอายุของตุลาการศาลฯ ให้เป็นไม่เกิน 70 ปี รวมถึง ครม. เห็นด้วยกับการปฏิรูปให้แยกออกมาเป็นการเฉพาะ อีกทั้งควรกำหนดบทเฉพาะกาลกำหนดการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับโรดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือภายในเดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป และ กรธ. จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น รวม 10 ฉบับ จะทำให้การเลือกตั้งช้าออกไป โดยเสนอให้ กรธ. ทำเฉพาะกฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งและการจัดการให้มี ส.ว. จนแล้วเสร็จ
ส่วนข้อเสนอสุดท้ายของ ครม. มองว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก เป็นความไม่วางใจและไม่แน่ใจในระบบและตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ อาจทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบเรียบร้อย เข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลวดังเช่นก่อนเดือน พฤษภาคม 2557 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ ปัญหาการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และคุณธรรมของคนในชาติ ประเทศตกอยู่ในวังวนแห่งการสู้รบและปัญหาอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดิน, การสร้างความสามัคคี, การสร้างความปรองดอง และการปฏิรูปประเทศสะดุดล้มเหลว จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ และความเป็นความตายของประเทศ
ทั้งนี้ ครม. จึงเห็นว่าถ้าบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง คือช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเหมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในระดับหนึ่ง อย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่จะใช้รัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงให้มากดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้
ภาพจาก เฟซบุ๊ก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2558
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
