x close

8 เคล็ดลับเปลี่ยนตัวเอง ให้คนรัก คนชอบ

บุคลิกภาพ

        บุคลิกภาพที่ดีไม่ใช่แค่การแสดงออกทางกาย แต่การพูด การฟังอย่างถูกวิธี ก็ช่วยให้คนรักคนชอบเราได้เหมือนกัน

        หลาย ๆ ครั้งที่เราต้องไปงานพบปะสังสรรค์ผู้คน อาจจะเพื่องาน เพื่อคอนเน็คชั่นใหม่ ๆ หรือแค่อยากหาเพื่อนใหม่ แต่ดันไม่รู้ว่าจะต้องพูดเรื่องอะไร ทำตัวอย่างไรดี นี่แหละที่เป็นปัญหา เว็บไซต์มาสิเลยนำเคล็ดลับจาก Mark Goulston จิตแพทย์และอดีตผู้ฝึกสอนเจ้าหน้าที่ FBI ในการเจรจากับตัวประกัน และผู้เชี่ยวชาญในการเข้าสังคม ที่จะทำให้คนรักคนชอบคุณได้มาฝากทุกคนค่ะ
บุคลิกภาพ

1. ให้เขาพูดเรื่องตัวเอง

        เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดเยอะ ๆ ถามคำถาม และเป็นผู้ฟังที่ดี แต่อย่าตัดสินเขา เพราะไม่มีใครชอบที่จะถูกตัดสินว่าเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้เพียงแค่คำพูด ความคิดเห็น หรือการกระทำของเขาหรอก แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับเขาไปซะทุกเรื่อง แค่พยายามทำความเข้าใจความคิด ความต้องการ ที่มาที่ไปของเขาก็พอ

        จากการศึกษาพบว่า การพูดเรื่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาส่วนตัวหรือจะเป็นการพูดคุยผ่านโซเชียลมีเดีย กระตุ้นให้สมองของคนเรามีความรู้สึกพึงพอใจยิ่งกว่าการกินอาหารหรือการมีเงินเยอะ ๆ เสียอีกแน่ะ

2. ลดอีโก้ของตนเองลงหน่อย

        เคยเป็นไหมคะที่บางทีก็รู้สึกอยากจะโพล่งออกไปเหลือเกินว่าที่พวกเขาพูดกันอยู่น่ะมันผิดชัด ๆ หรือเรารับไม่ได้ แต่นี่คือตัวทำลายไมตรีเลยล่ะ ถ้าเราอยากจะบอกใครว่าสิ่งที่เขาพูดอยู่มันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่ ถึงยังไง บางทีเราก็ต้องเอาความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการของเราเก็บไปก่อน เพราะการเข้าสังคม เราก็ต้องได้เจอกับคนหลากหลายความคิด การกระทำ จึงทำให้เสี่ยงกับการเกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งจะเป็นตัวขัดขวางการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับคนคนนั้นได้

        คนเราพอได้ยินอะไรที่ขัดกับความเชื่อของตัวเองแล้ว ความเป็นเหตุเป็นผลก็จะเริ่มหายไป แล้วสมองก็จะพร้อมที่จะสวนกลับด้วยการต่อสู้ทันที เคยเห็นคนที่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงเพราะแค่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันไหมคะ ? นั่นแหละค่ะ เราต้องเลี่ยงเหตุการณ์แบบนั้น

บุคลิกภาพ

3. เป็นผู้ฟังที่ดี

        ความลับของการเป็นผู้ฟังที่ดี คือ ไม่ต้องมัวคิดว่าจะพูดอะไรต่อ แต่ให้โฟกัสที่สิ่งที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่เท่านั้น ถ้าเรานึกว่าเดี๋ยวเราจะตอบรับว่ายังไงดี และถ้าเรามีเรื่องอยากจะเล่าเหมือนกัน บางทีเราก็ต้องขจัดเรื่องนั้นออกไปจากหัวก่อน เพราะถ้ามัวแต่จดจ่อว่าจะเล่าอะไรให้เขาฟังดี วินาทีนั้นก็เท่ากับว่าเรากึ่งฟังกึ่งไม่ได้ฟังแล้ว

        สิ่งที่เราควรทำคือ มีอะไรที่เขาเพิ่งพูดถึง แล้วเรารู้สึกสนใจ สงสัย อยากรู้เพิ่มเติม ก็พยายามถามคำถามเพื่อให้เขาเล่าให้ฟัง จากการศึกษาพบว่า แค่เราขอให้คนอื่นเล่าต่อหรือขยายความอะไรให้ฟังเพิ่มเติม แค่นี้คนก็จะรู้สึกชื่นชอบเรามากขึ้นแล้ว

4. จำเรื่องของเขาให้ได้

        การจะจำเรื่องอะไรของคนอื่นได้ เราก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ให้นึกถึงเวลาที่เจ้านายจำเรื่องสำคัญในชีวิตของเรา อย่างวันเกิด หรือวันครบรอบแต่งงาน คิดดูสิว่าน่าปลื้มใจขนาดไหน ใคร ๆ ก็ชอบทั้งนั้นแหละค่ะที่มีคนจำเรื่องของตัวเองได้

        ถ้าเราจำเรื่องของเขาได้ เราต้องแสดงออกให้เขาได้รู้ด้วยนะคะ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาเคยพูดกับเรา และนี่แหละจะทำให้คนอื่นเห็นความสำคัญกับสิ่งที่เราพูดคุยและช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันกับเราด้วยค่ะ
 
บุคลิกภาพ

5. ขอคำปรึกษา

        จากการศึกษาพบว่า ไม่ว่าคนเราจะอยู่ในแวดวงไหนก็ตามย่อมชอบที่มีคนมาขอคำปรึกษา แต่สิ่งที่เราขอคำปรึกษาควรมาจากใจเราจริง ๆ ไม่ใช่แค่แกล้งถามไปอย่างนั้นนะคะ เพราะจากท่าทาง น้ำเสียงของเรา ยังไงเขาก็ดูออก เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าไม่ชอบใจเราเอาได้

        หากคนที่เรากำลังคุยด้วยอยู่เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส เราอาจขอคำปรึกษาในการออกกำลังกายหรือการบำรุงร่างกายจากเขาก็ได้ แบบนี้จะทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง และรู้สึกยินดีที่จะพูดคุยกับเราไปนาน ๆ

6. ถ้าเขานึกถึงเรา ให้เขานึกถึงแต่เรื่องดีๆ

        เชื่อไหมว่า เราเวลาเราพูดอะไร ทำอะไร หรือถามคำถามบางอย่าง เรามักจะทำให้คนที่เราคุยด้วยเห็นอดีตของเราไปด้วยในเวลาเดียวกันอย่างไม่รู้ตัว

        ถ้าคนที่เราคุยด้วยเชื่อมโยงตัวเรา คำถามของเรา และคำขอของเรากับสิ่งดี ๆ เขาก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำตามสิ่งที่เราร้องขอ ในขณะที่ถ้าเขาเชื่อมโยงเราเข้ากับอดีตที่ไม่ดี เขาก็คงไม่ค่อยอยากทำตามที่เราพูดหรือตอบคำถามของเราเท่าไร

        เช่น A เป็นครูสอนพิเศษที่มีตารางงานแน่นเอี้ยด ใคร ๆ ก็อยากเรียนกับ A พอถามนักเรียนคนหนึ่งของเธอว่าทำไมถึงชอบเรียนกับครูคนนี้ คำตอบที่ได้คือ "ครู A ใจดี สอนสนุก เรียนด้วยแล้วไม่เครียด ชอบเล่าเรื่องตลกด้วย เวลาครูสอนก็เลยอยากฟังมากกว่า"

7. ทำให้เขารู้สึกพิเศษ

        ใคร ๆ ก็ชอบที่จะรู้สึกว่าตัวเองสำคัญและเป็นคนพิเศษทั้งนั้น

        ฉะนั้น เวลาเราคุยกับใคร เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดอยู่มีความหมาย และเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่คนประเภทที่เราไม่ควรเป็น คือคนที่แค่ฟังคนอื่นไปอย่างนั้นเพื่อรอถึงตาที่ตัวเองจะได้พูดบ้าง หรือแย่กว่านั้นคือคุยเกทับคนอื่นเสียอย่างนั้น

        สมมติคนที่คุยด้วยบอกว่าเพิ่งไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาและได้ไปชมซากุระใกล้ ๆ คนประเภทแรกอาจจะพูดว่า "โหย ดีจังเลย ต้องสวยมากแน่ ๆ เลย ฉันล่ะอยากเห็นบ้างจัง" ในขณะที่คนประเภทที่สองอาจพูดว่า "เหรอ มันก็แค่ดอกไม้ป่ะ บ้านเราก็มีนี่ไม่เห็นต้องดั้นด้นไปถึงญี่ปุ่นเลย"

        แค่นี้ก็ชัดเจนแล้วว่าคนประเภทไหนน่ารักน่าคบกว่ากัน

บุคลิกภาพ

8. ภาษากายสื่อความหมาย

        รู้ไหมว่า ภาษากายถือเป็นการสื่อสารให้คนที่เราคุยด้วยรับรู้มากกว่าคำพูดของเราเสียอีก และนี่คือข้อแนะนำของการใช้ภาษากายของเราค่ะ

        - ยิ้มเยอะ ๆ การยิ้มให้กับคนอื่นถือเป็นการแสดงความเป็นมิตรที่ง่ายที่สุด และอีกอย่าง การยิ้มทำให้ตัวเราเองแฮปปี้ขึ้นด้วยอัตโนมัติ
        - อย่าเชิดหน้าจนเกินไป คนจะได้ไม่รู้สึกว่าโดนมองเหยียด ๆ
        - เวลาอยู่ต่อหน้าใคร อย่าให้ตัวเราหันเข้าหาเขาทั้งตัว ให้เอียง ๆ หน่อยจะดีกว่า
        - รีแลกซ์เข้าไว้ ท่าทางบางอย่างอาจแสดงให้เห็นความอึดอัดหรือความเครียดได้ เช่น การเม้มปาก การขมวดคิ้ว เป็นต้น

        การจะเป็นที่รักของคนอื่นอาจทำให้เรารู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเองไปบ้าง และต้องลดการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่อย่าลืมว่าคนเราทุกคนมีความคิด ความเชื่อ การแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป การเปิดใจรับฟังผู้อื่นโดยไม่ใช่อารมณ์เป็นหลัก คิดถึงใจเขาใจเรา ระมัดระวังเรื่องภาษากาย จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเรากับคนอื่นได้

        นอกจากนี้ การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกพิเศษนี่แหละค่ะ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีแนวโน้มไปในทางที่ดีได้ง่ายขึ้น แค่นี้ก็เป็นที่รักของคนรอบข้างได้แล้วค่ะ ลองเอาไปปรับใช้ดูนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
masii.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 เคล็ดลับเปลี่ยนตัวเอง ให้คนรัก คนชอบ อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2559 เวลา 15:30:00 6,786 อ่าน
TOP