x close

สัมภาษณ์พิเศษ นีล ยูเลวิช ผู้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ 2519 กับวินาทีลั่นชัตเตอร์

6 ตุลาฯ 2519

          เผยบทสัมภาษณ์พิเศษ นีล ยูเลวิช ผู้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ 2519 กับวินาทีลั่นชัตเตอร์ พร้อมเผยวินาทีเป็น วินาทีตายในฐานะช่างภาพ ชี้ "ต้องเอารูปกลับให้ได้เพราะกลัวถูกยึดฟิล์ม" กับรอยยิ้มในรูปอาจอำพรางความอึดอัดใจ

          เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทยสำหรับภาพถ่ายศพที่ถูกแขวนคอกับต้นไม้ และถูกเก้าอี้ฟาด ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจมาจวบจนปัจจุบันนั้นก็คือรอยยิ้มของผู้คนที่ต่างเข้ามามุงดูการกระทำอันแสนเลือดเย็นดังกล่าว คำถามที่ตามมาคือ ใครคือผู้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ที่เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ครั้งนี้

          ล่าสุดวันที่ 6 ตุลาคม 2559 เว็บไซต์วอยซ์ทีวี ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษของ นายนีล ยูเลวิช  อดีตช่างภาพผู้ถ่ายภาพชุดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 1977 ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว AP ในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ

6 ตุลาฯ 2519

          นายนีล ระบุว่า จริง ๆ แล้วตนไปถึงที่เกิดเหตุช้า นักข่าวของ AP อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่เช้ามืด เช่นเดียวกับช่างภาพ AP ซึ่งเป็นชาวไทย ที่ได้สอบถามจากแหล่งข่าวหลายแห่งว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งนักข่าวได้เดินทางกลับสำนักข่าวเพื่อไปเขียนข่าว เพราะคิดว่าไม่น่ามีอะไรแล้ว ได้มีการ โทร. หาหัวหน้าสำนักงาน ด้านหัวหน้าก็ได้ โทร. หาตนตอน 7 โมงเช้า ไม่ได้มีการบอกตนว่าคืนที่ผ่านมานั้นเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง หลังจากนั้นตนก็รีบคว้าอุปกรณ์แล้วนั่งแท็กซี่ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานการณ์ในตอนนั้นเริ่มรุนแรงอีกครั้ง และในสถานที่เกิดเหตุก็ไม่มีคนของ AP เลย ส่วนกองกำลังติดอาวุธก็เข้าไปด้านใน ม็อบอยู่นอกรั้ว นักศึกษาฝ่ายซ้ายอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งกองกำลังติดอาวุธได้ระดมยิงเข้าไปในห้องเรียน มีศพเต็มไปหมด จนนักศึกษาต่างยอมจำนนในที่สุด และทหารได้บังคับให้พวกเขานอนกับพื้นสนามฟุตบอลกลางมหาวิทยาลัย

          ส่วนที่มาของภาพศพที่ถูกแขวนคอนั้น นายนีล ระบุว่า เหตุการณ์ทุกอย่างจบแล้ว ตนต้องการออกจากสถานที่ดังกล่าวก่อนที่จะมีคนยึดฟิล์มไป เมื่อถึงหน้าประตูมหาวิทยาลัย ตนก็สังเกตเห็นมีคนมุงที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ 2 ต้นในสนามหลวง ตนจึงเดินไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง และเห็นผู้ชายคนหนึ่งใช้เก้าอี้ฟาดไปที่หนึ่งในร่างที่แขวนอยู่เหนือหัว ถัดไป 2 ต้นก็มีอีกร่างแขวนอยู่ พวกเขาน่าจะตายแล้วตอนนั้น

6 ตุลาฯ 2519

          สำหรับบรรยากาศในตอนนั้น ก็เหมือนงานเฉลิมฉลอง เหมือนอย่างที่ทุกคนเห็นในภาพ ซึ่งทุกคนกำลังยิ้มอยู่ มันเกือบเหมือนพิธีกรรมอะไรบางอย่างซึ่งวุ่นวายมาก ไม่มีห้ามตนถ่ายรูป และไม่มีใครสนใจตนเลย ตนจึงรีบถ่าย 2-3 รูป แล้วเดินออกมาจากสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการไม่มีตัวตน ความวุ่นวายของเหตุการณ์ทำให้ตนไม่ตกเป็นเป้าสังเกตของใครเลย

          นอกจากนี้ยังมีความไม่สอดคล้องกันของสถานการณ์ ซึ่งหลังจากตนถ่ายภาพฉากแขวนคออันเลวร้ายดังกล่าวแล้ว ตนเดินไปอีกแค่ 100 หลา เพื่อนั่งแท็กซี่กลับสำนักงาน ก็เหมือนออกจากระหว่างเขาวัวเขาควายเพียงเสี้ยววินาที

          สำหรับเรื่องราวทั้งหมดนั้น ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ตนอยู่ฝั่งกลุ่มติดอาวุธ เพราะไม่อยากอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างแน่นอนเพราะกลุ่มนี้เป็นฝ่ายยิง เมื่อเหตุการณ์เริ่มนิ่ง ตนก็เดินไปอีกฝั่งเพื่อหามุมใหม่ในการถ่ายภาพ กระทั่งมีการเริ่มยิงอีกครั้งพบว่าตัวเองติดอยู่ในแนวปะทะ จริง ๆ แล้วไม่เรียกว่าแนวปะทะ เพราะเกือบจะไม่มีการยิงโต้ตอบจากฝ่ายนักศึกษาเลย มีแต่กระสุนที่ทะลุทะลวงเข้าไปในชั้นเรียนที่นักศึกษานั่งอยู่ ตอนนั้นตนหมอบราบลงกับพื้น คิดว่าตายไปแล้วซะอีก มีการยิงกันมั่วมากจนตนคิดว่า ตัวเองอาจจะต้องถูกยิงในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า กระทั่งเหตุการณ์สงบตนก็ขยับไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยขึ้น หลังจากนั้นตนก็รีบไปเพราะคิดอย่างเดียวว่าต้องไป เพราะมีโอกาสสูงที่จะถูกยึดฟิล์ม ก่อนจะมาเจอภาพศพถูกแขวนคอดังกล่าว

          นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ตอนที่ตนผ่านประตูมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ตนพบว่าที่ประตูมีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันแก่ ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มีกล้องถ่ายหนัง 8 มม. ซึ่งเหมือนพวกเขากำลังสนุกสนานกันมาก ตนก็รีบตะโกนบอกให้พวกเขาออกไปจากตรงนี้เพราะมันอันตรายมาก แต่พวกเขากลับพูดแค่ว่า "ผมรู้ดี" และสังเกตว่า มีโรงแรมอยู่ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง เห็นได้ชัดว่าเขามาจากโรงแรมนั้น


6 ตุลาฯ 2519

          ย้อนกลับไปที่ภาพเหตุการณ์ใช้เก้าอี้ฟาดศพนั้น นายนีล ระบุว่า เป็นนักศึกษาฝ่ายขวา (ขวาตามความคิดของตน) ซึ่งมาจากกลุ่มกระทิงแดง ได้มีการทุบตีหนึ่งในศพที่แขวนอยู่ด้วยเก้าอี้พับ ตนยืนมองอยู่ประมาณ 20 วินาที เพื่อจะดูว่ามีคนมองตนหรือไม่ ก่อนจะรีบถ่ายและรีบออกไปให้เร็วที่สุด และสิ่งที่น่าประหลาดใจนั้น คือการตีศพด้วยเก้าอี้ แล้วทุกคนยืนล้อมดู ซึ่งในการถ่ายภาพตนจับแค่รายละเอียดหลัก ๆ คือการตีศพ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ตนมาสังเกตเห็นทีหลังในตอนล้างฟิล์ม
 
          หลังจากที่สำนักข่าว AP เห็นภาพดังกล่าวแล้ว พวกเขาไม่เชื่อเลย ตนจึงบอกว่า มีอย่างน้อย 2 คนที่ถูกแขวนคอ และมีคนอีกมากมายที่ตายอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคนจาก AP 2 คนที่ตนพูดถึงก่อนหน้านี้กลับมาออฟฟิศแล้วในช่วงสถานการณ์สงบไม่ได้เห็นอย่างที่ตนเห็น ตนเลยพูดกับนายเดนิส เกรย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานว่า ตนเห็นทั้งหมด แต่ไม่มีเวลาพูด รู้แต่ว่าคุณต้องล้างฟิล์มและดูรูปเอา ตอนนั้นตนคิดอย่างเดียวว่าจะเอารูปออกจากประเทศไทยให้ได้ ก่อนที่รัฐบาลจะตัดขาดการติดต่อจากโลกภายนอก

          ตนตระหนักว่าภาพมันสำคัญมาก เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญที่สุดของโลกในเวลานั้น แต่เรื่องที่มันกลายเป็นสัญลักษณ์นั้น ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวพิสูจน์เอง และในวันนี้ เมื่อตนกลับมามองภาพนี้อีกครั้ง ตนไม่มีความคิดใหม่อะไรเกี่ยวกับมัน เพราะตนอยู่กับมันนานมาก เป็นช่วงเวลาสำคัญในชีวิตตน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและมีความหมายมาก ตนเลยไม่มีความคิดพิเศษอะไร คนอื่น ๆ ถูกดึงดูดด้วยภาพของคนไทย แม้แต่เด็กที่กำลังยิ้มให้กับภาพที่เลวร้ายตรงหน้า แต่รู้หรือไม่ว่าในไทยและอีกหลายที่ในเอเชีย รอยยิ้มอาจเป็นการอำพรางความอึดอัดใจก็ได้ มันก็เลยยากที่จะตัดสินว่ารอยยิ้มนั้นหมายความว่ายังไง ตนอยู่เอเชียมานาน รู้ว่ารอยยิ้มมีความหมายหลายอย่าง รวมถึงความไม่สบายใจอย่างใหญ่หลวง


6 ตุลาฯ 2519

          ตนไม่แปลกใจเลยที่ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครในรูปเลยที่ได้รับการระบุตัวตน ทั้งนี้ตนแปลกใจมากกว่าที่หลังจากภาพนี้และเรื่องราวทั้งหมดถูกปกปิดไว้มานาน เมื่อมันกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง คนไทยและนักวิชาการจำนวนมากยังรู้สึกประทับใจกับภาพนี้ และยกให้มันเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ จากสัญชาตญาณของตน คาดว่าคนที่ปรากฏในรูปพวกเขาเป็นนักศึกษาฝ่ายขวา ส่วนใหญ่เป็นเด็กอาชีวะ เป็นสมาชิกของกลุ่มกระทิงแดง ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นการรวมตัวของหลายกลุ่ม มันเกิดขึ้นหลังสงครามเวียดนาม หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม จะเกิดขึ้นในไทยด้วย ตนคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลฝ่ายขวามีปฏิกิริยารุนแรงขนาดนี้

          ตนไม่รู้ว่าใครเป็นเหยื่อ แต่รู้ว่าเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่หลบหนีออกมาจากมหาวิทยาลัย แต่กลับเข้าไปในเงื้อมมือของกลุ่มกระทิงแดง จน 2 คนโดนแขวนคอ คุณรู้ใช่มั้ยว่าพูลิตเซอร์ไม่ได้ให้รางวัลภาพเดียว แต่เป็นภาพชุด 12 ภาพ หนึ่งในภาพนั้นเป็นภาพตำรวจ 2 คนไล่จับนักศึกษาที่กำลังวิ่งหนีอย่างหวาดกลัวออกจากมหาวิทยาลัย และมีนักศึกษาฝ่ายขวาคนหนึ่งยืนขวางอยู่ กำลังจะต่อยเข้าที่หน้าของเขา นักศึกษาสองกลุ่มแตกต่างกัน ฝ่ายซ้ายอยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนเด็กอาชีวะฝ่ายขวาอยู่นอกมหาวิทยาลัย

          สำเหตุที่ภาพดังกล่าวยังสร้างความสะเทือนใจแม้ผ่านมา 40 ปีแล้ว ตนคิดว่า คนไทยมองภาพนี้ในฐานะเครื่องชี้วัดทางการเมืองและลักษณะประจำชาติของพวกเขา คนไทยส่วนใหญ่มองว่าตนเองสุภาพอ่อนโยน แต่นี่คือภาพตรงข้ามอย่างสุดขั้ว มันยังเป็นภาพสะท้อนของการเมืองไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งช่วงที่ทหารเข้มแข็งและอ่อนแอ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คุณรู้มั้ยว่าไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ประเทศนี้จึงมีประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองมาก แสดงว่านี่เป็นภาพสะท้อนว่าอะไร ๆ ก็สามารถผิดพลาดและบานปลายจนเกินควบคุมได้ และทุกวันนี้เราก็ยังอยู่ในภารกิจการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น และเพราะอะไร

          สำหรับความเห็นเกี่ยวกับวันครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ นั้น ตนแปลกใจนิดหน่อยกับเรื่องนี้ คุณเห็นบทความของวารสารศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ไปสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ธงชัยมั้ย ตนกลับไปที่วิสคอนซิน เมดิสัน มหาวิทยาลัยเก่าของตนเอง เพื่อจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่คณะวารสารศาสตร์ และได้รับการแนะนำให้รู้จักกับชายที่ชื่อธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งอยู่ที่คณะประวัติศาสตร์ เขาเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายในตอนนั้น เขาหนีออกจากมหาวิทยาลัยแต่ถูกจับ และติดคุกอยู่ 2 ปี หลังจากเขาออกจากคุก ก็กลับมาเรียนและอุทิศตัวให้กับการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น ตอนนั้นเขาสอนที่วิสคอนซิน เขายังพยายามระบุว่าใครเป็นเหยื่อ เขาไม่รู้จักเหยื่อ มีนักศึกษาฝ่ายซ้ายเยอะในวันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัย ตนเดาว่ามี 40-60 คนที่จมน้ำ ถูกยิง และ 2 หรือ 3 คนถูกแขวนคอ บางคนบอกว่า 3 แต่ตนเห็น 2 คน

6 ตุลาฯ 2519




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัมภาษณ์พิเศษ นีล ยูเลวิช ผู้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ 2519 กับวินาทีลั่นชัตเตอร์ อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2559 เวลา 10:24:52 87,184 อ่าน
TOP