เปิดบทความพระกระยาหารโปรดของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อหลวงนักพัฒนา และความพอเพียง โปรดผัดผักทุกชนิด อาหารที่สามัญชนธรรมดาบริโภคกัน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้เป็นนักพัฒนา พ่อหลวงที่พสกนิกรไทยทุกคนรักและยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ทั้งคำสอน รวมถึงการวางพระองค์ การดำรงอยู่ซึ่งความพอเพียง
วันนี้ (17 ตุลาคม 2559) เว็บไซต์กระปุกดอทคอม ขอหยิบเอาบทความหนึ่งจากหนังสือใกล้เบื้องพระยุคลบาท โดย...ลัดดา ซุบซิบ (ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2545) มาให้คนไทยทุกคนได้ทราบถึงพระกระยาหารโปรดของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ดูธรรมดาไม่ได้มีความวิเศษเลิศเลอ อาหารที่เหล่าพสกนิกรไทยทั่วไปบริโภคได้ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมด มีดังนี้ ...
พระกระยาหารโปรดของในหลวง
ขออย่าได้แปลกใจไปเลย ที่เมนูพระกระยาหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ละมื้อหาได้วิเศษเลอเลิศอย่างที่เข้าใจกันไม่ แต่เป็นอาหารธรรมดาที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหลายบริโภคกันทุกวันนั่นเอง ในหลวงโปรดเสวยอาหารอ่อนแบบอาหารฝรั่ง อาหารไทย โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา โดยใส่ผักให้มาก ๆ หมู เนื้อ ใส่น้อย ๆ อาหารว่างเคยโปรดหูฉลามและบะหมี่ จะใส่หน้าหมูแดง หน้าเป็ด หน้าปู ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ใส่ผักชี ใบหอม ต้นหอม และตั้งฉ่าย เครื่องดื่ม โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่ง ๆ หลายครั้ง น้ำ ชา กาแฟ ไม่มากนัก
พระกระยาหารหรือเครื่องเสวยประจำวันที่นำมาให้ดูกันมีเครื่องกลางวัน ซุปอาสาเรน (ซุปใสใส่ไข่) สปาเกตตีมิลานเนส แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม ผลไม้
ยามดึกเมื่อเสด็จฯ กลับจากพระราชกิจ มหาดเล็กจะตั้งเครื่องว่างจำพวกหูฉลามหรือบะหมี่ถวายอีกครั้งหนึ่ง หัวหน้าส่วนพระเครื่องต้น ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ คนปัจจุบันชื่อ เอกสิทธิ์ วัชรปรีชานนท์ มีพระเครื่องต้นอยู่ ๓ ห้อง ผู้กำกับดูแลอย่างไม่เป็นทางการ ในแต่ละห้องมีลูกหลานกุ๊กแต่รัชสมัย ร.๖ เป็นคนจีนชื่อ เยี่ยหง แซ่ห่าน ดูแลพระเครื่องต้นฝรั่ง สมิง ดวงทิพย์ ดูแลพระเครื่องต้นหวาน ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล มารดาวัย ๘๐ ต้น ของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ดูแลพระเครื่องต้นไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์
(วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕)
ที่มา : หนังสือใกล้เบื้องพระยุคลบาท โดย...ลัดดา ซุบซิบ
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Tanond Jullavech
(วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕)
ที่มา : หนังสือใกล้เบื้องพระยุคลบาท โดย...ลัดดา ซุบซิบ
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Tanond Jullavech