25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ..หยุดการทำร้ายผู้หญิง


25 พฤศจิกายน การต่อสู้เพื่อสิทธิ์สตรี วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลและความหมายของวันนี้

        วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยริบบิ้นสีขาวและการสร้างโลกสีส้ม

        ความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่หยั่งรากลึกในทุกสังคม ไม่ว่าจะด้วยค่านิยม กฎหมาย หรือแม้กระทั่งศาสนา ในทุก ๆ ปี เราจึงเห็นกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี และมีแคมเปญต่าง ๆ ออกมาเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง โดยเรียกวันดังกล่าวว่า "วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล" (International Day for the Elimination of Violence against Women) ที่องค์การสหประชาชาติรับรองให้วันดังกล่าวเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี สำหรับใครที่อยากทราบความเป็นมา และกิจกรรมในวันดังกล่าว วันนี้กระปุกดอทคอมได้นำข้อมูลมาฝากทุกคนกัน

ความเป็นมาของ ริบบิ้นขาว (White Ribbon) นำมาสู่วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล


25 พฤศจิกายน การต่อสู้เพื่อสิทธิ์สตรี วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลและความหมายของวันนี้

        จุดเริ่มต้นของการวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลมาจากการตระหนักถึงความรุนแรงต่อสตรี หลังเหตุการณ์สังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสตรีชาวโดมินิกัน 3 คน คือ แพทริเซีย มาเรีย และมิเนอร์วา ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2504 สาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมือง ก่อนที่ปี พ.ศ. 2534 ได้เกิดเหตุสังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา จำนวน 14 คน หลังจากเหตุการณ์นั้นส่งผลให้กลุ่มผู้ชายกว่า 1,000,000 คน ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงรณรงค์ให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ หมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ

        และในปี พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" สำหรับประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีให้หมดสิ้นไป

ติดริบบิ้นขาว แสดงจุดยืน "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี"


ติดริบบิ้นขาว แสดงจุดยืน
ภาพจาก DANIEL MIHAILESCU/AFP

        สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติดเพื่อแสดงถึงการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ทั้งนี้ในปัจจุบันสัญลักษณ์ดังกล่าวใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพื่อแสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

ทำไมวันนี้จึงเป็นวันสากลของทุกประเทศ


ทำไมวันนี้จึงเป็นวันสากลของทุกประเทศ
ภาพจาก LUIS ACOSTA/AFP

        โดยเว็บไซต์สหประชาชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งการปรากฏในข้อกฎหมาย และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในความเท่าเทียมกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงและเกี่ยวเนื่องไปถึงการต่อสู้กับความยากจน, HIV รวมไปถึงสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก

        "ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การแพร่ระบาดด้านสุขภาพของประชาชน ถือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปัญหาดังกล่าวนั้นตามมาด้วยค่าใช้จ่ายมากมายทั้งในครอบครัวและเศรษฐกิจ ซึ่งโลกไม่สามารถแลกได้ในราคาสูงขนาดนี้" นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

Orange the World, Raise money to end violence against women and girls.

กิจกรรมเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล


        สำหรับในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลนั้น องค์การสหประชาชาติ จะจัดแคมเปญ Orange the world เพื่อสร้างความตระหนักให้คนทั่วโลกยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และระดมทุนเพื่อนำมาดำเนินกิจกรรมสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยจะใช้ สีส้ม เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอนาคตที่สดใสโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ขณะที่หลาย ๆ ประเทศก็ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน หรือแลนด์มาร์กสำคัญ

แคมเปญ Orange the world

แคมเปญ Orange the world

แคมเปญ Orange the world


การเคลื่อนไหวในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ของประเทศไทย


        สำหรับประเทศไทย ก็เคยจัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าว โดยเมื่อปี 2558 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว มีกิจกรรมหลักประกอบด้วยการเดินขบวนรณรงค์ของผู้แทนจากทุกภาคส่วน จากบริเวณด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการมายังอาคารสหประชาชาติ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายในการร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว กิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ และนิทรรศการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แคมเปญ Orange the world

แคมเปญ Orange the world

          สำหรับในปี 2560 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด "สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์" อันมีคำขวัญว่า "หยุด ! คำร้าย...ทำลายครอบครัว" รณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว พร้อมกันนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย

          1. เหนื่อยไหม
          2. รักนะ
          3. มีอะไรให้ช่วยไหม 
          4. คำชมเชย (ภูมิใจ/ดี/เยี่ยม)
          5. ไม่เป็นไรน่ะ
          6. สู้ ๆ นะ
          7. ทำได้อยู่แล้ว
          8. คิดถึงนะ
          9. ขอบคุณนะ
          10. ขอโทษนะ

          ส่วน 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย
          1. ไปตายซะ
          2. คำด่า (เลว/ชั่ว)
          3. แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย
          4. ตัวปัญหา
          5. ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ
          6. น่ารำคาญ
          7. ตัวซวย
          8. น่าเบื่อ
          9. ไม่ต้องมายุ่ง
          10. เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง

ภาพและข้อมูลจาก un.org, ทวิตเตอร์ @hrcmv, @UNRIC_FI,@SMRCbbsr, apsw-thailand.org, .lph.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ..หยุดการทำร้ายผู้หญิง อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17:21:40 17,743 อ่าน
TOP
x close