x close

วันนี้ในอดีต 24 ธันวาคม 2483 ประเทศไทยประกาศให้ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่


วันขึ้นปีใหม่

          ย้อนเหตุการณ์วันที่ 24 ธันวาคม 2483 (ค.ศ. 1940) รัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เป็นสากลและสอดคล้องกับนานาอารยประเทศ

          เมื่อเข้าถึงช่วงฤดูหนาว หลายคนอาจกำลังรอคอยเพื่อที่จะเริ่มนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปีนั่นเอง แต่รู้หรือไม่ว่า แต่โบราณกำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย โดยคำว่า เดือนอ้าย หมายถึงเดือน 1 หากนับตามปฏิทินจันทรคติไทยมักจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับคติทางศาสนาที่ถือให้ช่วงเหมันต์ หรือฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปีนั่นเอง

          แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปจึงมีการกำหนดให้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตรงกับช่วงวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนกระทั่งในปี 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แทน เนื่องจากวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการนับตามจันทรคติ และในแต่ละปีก็มีกำหนดวันไม่แน่นอน ทำให้ชาวบ้านเกิดความสับสน ประกอบกับราชการนิยมใช้หลักตามสุริยคติ ดังนั้นจึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านในชนบทก็ยังนิยมให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ดี

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนไม่ค่อยมีงานรื่นเริงอะไรมาก ทางราชการจึงประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ก่อนจะแพร่ออกไปยังต่างจังหวัดจนได้รับความนิยมในปี 2479 จึงมีชื่อวันเป็นทางการว่า "วันตรุษสงกรานต์"


          จากนั้นก็ได้มีการพิจารณาถึงความเหมาะสมกันอีกครั้ง ก่อนจะมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน ปี 2483 ซึ่งตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2483 เพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศและเป็นสากล โดยมีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ

          1. เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
          2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ
          3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
          4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          และจากประกาศดังกล่าวทำให้ตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่จวบจนปัจจุบัน 






ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ชมรมประวัติศาสตร์สยาม, lib.ru.ac.th, เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันนี้ในอดีต 24 ธันวาคม 2483 ประเทศไทยประกาศให้ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ อัปเดตล่าสุด 22 ธันวาคม 2560 เวลา 18:11:40 12,098 อ่าน
TOP