วันที่ 26 ธันวาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา "ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 " ณ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 1 โดย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชน ทั้งนี้กฎหมายที่ผ่านไปนั้น ระบุไว้ว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นการวินิจฉัยที่เป็นธรรม
ส่วนเรื่องการลงโทษต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ การกระทำความผิดต่อความมั่นคงของชาติ ศีลธรรมอันดี ซึ่งความผิดส่วนนี้สามารถตีความได้กว้างมาก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผู้บังคับใช้กฎหมายอาจนำเอา พ.ร.บ. นี้มาใช้และตีความจนเกินเลยขอบเขตที่เหมาะสม เช่นคำว่า "ความมั่นคง" เป็นคำที่มีความหมายกว้าง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมถึงคำว่า "ขัดต่อศีลธรรมอันดีความสงบ" ก็เป็นคำที่มีความหมายกำกวม
ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างกว้างขวางไม่ใช่พิจารณาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดคือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะใช้ดุลยพินิจเพื่อปกป้องประชาชน ไม่ใช่การปกป้องอำนาจของรัฐเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักปกป้องสิทธิชุมชนถูกฟ้องมากขึ้น แต่เรายังไม่มีกฎหมายหยุดการข่มขู่ให้นักสิทธิทำงานปกป้องสิทธิชุมชนได้เต็มที่ รัฐต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น เพราะเสรีภาพการแสดงความเห็นประชาชนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาธิปไตย การมีรัฐบาลทหารไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตยไม่ได้ ประชาชนต้องสามารถใช้กฎหมายตรวจสอบรัฐได้เช่นเดียวกับที่รัฐตรวจสอบประชาชน
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก