
นับเป็นวลีที่คุ้นหูเราเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย สำหรับคำว่า "ชิตัง เม โป้ง รวย" ที่ พระธัมมชโย มักจะใช้เป็นคำเทศนาให้บรรดาศิษยานุศิษย์ จนกลายมาเป็นคำติดปากที่เหล่าสาวกมักจะพูดกัน นำไปสู่ความสงสัยของคนโดยทั่วไปว่า "ชิตัง เม" แปลว่าอะไร
สำหรับคำว่า ชิตัง เม นั้น เป็นคำที่มีอยู่จริงและใช้กันดาษดื่นในสมัยพุทธกาล ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกด้วย อย่างเรื่อง กุททาลชาดก ก็เป็นเครื่องสาธกในข้อนี้ได้ดี ความย่อมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยชาติ เป็นกุททาลบัณฑิต มีอาชีพทำไร่ ทำสวน ปลูกผักผลไม้ แกมีจอบบิ่น ๆ อยู่ด้ามหนึ่ง เป็นสมบัติมีค่าของตระกูล วันหนึ่งนึกอยากสละเรือนออกบวชเป็นฤาษี จึงเอาจอบไปซ่อนแล้วออกบวช แต่เมื่อบวชไปสักพักหนึ่งก็กระสัน นึกถึงเครื่องมือทำมาหากินของตัวเอง ก็เลยสึก พอสึกไปก็เบื่อหน่ายอีกจึงกลับมาบวช บวช ๆ สึก ๆ อย่างนี้อยู่ถึง 6 ครั้ง จนครั้งที่ 7 เกิดความสลดสังเวชใจ อนาถใจในตัวเองว่า อาศัยสมบัติคือจอบบิ่น ๆ ด้ามเดียว ก็ตัดขาดจากความอยากครองเรือนไม่ได้ ก็เลยคิดหาอุบายจะทำลายจอบซึ่งเป็นต้นตอแห่งตัณหานี้ทิ้ง
มาครั้งสุดท้ายนี้จึงตัดสินใจนำจอบไปที่แม่น้ำใหญ่ หันหลังแล้วเหวี่ยงจอบลงแม่น้ำอย่างสุดแรง เพื่อไม่ให้หามันเจออีก เมื่อหันหน้ากลับมามองหาจอบที่เหวี่ยงทิ้งแล้ว ไม่เห็นร่องรอย แกก็เกิดปีติปราโมทย์ ที่สามารถเอาชนะกิเลสของตัวเอง จึงตะโกนเสียงอย่างดังว่า ชิตัง เม ชิตัง (กูชนะแล้ว กูชนะแล้ว) นี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า ชิตัง เม
อย่างไรก็ตามในทางพุทธศาสนา คำว่า ชิตัง เม หมายถึง การเอาชนะกิเลสในใจตัวเอง อย่างพราหมณ์จูเฬกสาฎกที่พยายามสู้กับความตระหนี่ของตัวเองจนถึงสว่าง เพื่อจะถวายผ้าห่มที่มีแค่ผืนเดียวให้กับพระพุทธเจ้า จนสุดท้ายแกก็สามารถเอาชนะความตระหนี่ของตัวเองได้จริงจริง ก็เลยตะโกนคำว่า ชิตัง เม เหมือนกัน
แต่จะว่าไป เมื่อพราหมณ์จูเฬกสาฎกพูดคำว่า ชิตัง เม หลังการถวายผ้าห่มให้พระพุทธเจ้า แกก็รวยจริงนะ เพราะพระราชาดันมาได้ยินเข้าแล้วเลื่อมใส ก็เลยสั่งให้พระราชทานทั้งผ้าทั้งข้าวของตั้งหลายอย่างให้กับแก ซึ่งคาดว่าวัดพระธรรมกายเขาก็คงอ้างจากเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้หากทางวัดพระธรรมกายใช้คำว่า ชิตัง เม คำเดียวไม่มีสร้อยว่า โป้ง รวย คนก็คงจะไม่นำมาล้อเลียนกันหนักขนาดนี้
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ