Thailand Web Stat

ขนส่งฯ ยัน เรียกรถโดยสารผ่านแอพฯ Uber-Grab ไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นเรียกรถป้ายดำ


        กรมการขนส่งทางบก ยืนยัน การใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นเป็นการใช้เพื่อเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มารับ-ส่งผู้โดยสาร โดยภาครัฐพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ถูกต้องภายใต้กรอบของกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกและประโยชน์สูงสุดของประชาชน พร้อมเร่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ในระบบ ควบคู่การผลักดันโครงการ TAXI OK, TAXI VIP ซึ่งจะเป็นการยกระดับการให้บริการแท็กซี่อีกทางหนึ่ง


        นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนรถโดยสารทางเลือกใหม่ เช่น Uber และ Grab car โดยระบุว่าเป็นบริการที่เพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากกว่าการให้บริการรถโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น กรมการขนส่งทางบกได้มีการชี้แจงไปยังผู้ประกอบการโดยตรงและผ่านทางสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า แอพพลิเคชั่นในการเรียกใช้บริการแท็กซี่นั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นที่ผิดกฎหมาย คือ การนำแอพพลิเคชั่นไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ดังนี้

        1.ใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้
        2.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด
        3.ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
        4. ไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก

        ซึ่งหากมีอุบัติเหตุหรือเหตุไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย และภาครัฐจะไม่สามารถติดตามรถหรือคนขับรถมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้



        กรมการขนส่งทางบกตระหนักและให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทางถนนให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนสูงสุด จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทั้งการชี้แจงทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์แนะนำการใช้บริการรถโดยสารที่ถูกกฎหมายแก่ประชาชน

        ตลอดจนกวดขันจับกุมผู้ให้บริการผิดกฎหมายทั้งรถนอกระบบและรถแท็กซี่ในระบบที่กระทำความผิดทุกกรณี เช่น เข้มงวดและลงโทษขั้นสูงสุดกับพนักงานขับรถที่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร หรือไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือทำเพื่อปกป้องประโยชน์ของกลุ่มใด โดยดำเนินการควบคู่กับการปรับปรุงคุณภาพ การให้บริการของรถแท็กซี่ในระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจให้ประชาชนหันกลับมาใช้บริการมากขึ้น

        ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่ยังไม่ถูกกฎหมาย เช่น Uber และ Grab Car กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยภายใต้กรอบของกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกและประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันมีรถแท็กซี่ในระบบเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นเป็นสื่อกลางในการบริการ เช่น Grab Taxi และ All Thai Taxi ซึ่งกรมการขนส่งทางบกพร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ

        สำหรับการทำงานในทางคู่ขนาน กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนายกระดับมาตรฐานรถแท็กซี่ใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัย โดยดำเนินโครงการ TAXI OK และ TAXI VIP โดยโครงการ TAXI-OK เป็นการยกระดับการให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบัน มีการติดตั้ง GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ, กล้อง CCTV, มีปุ่มฉุกเฉิน (ส่งข้อมูล Online มาที่ศูนย์ GPS ทันที), มีระบบแจ้งเตือนการใช้ความเร็ว ระบบควบคุมการไม่เปิดมิเตอร์ รวมถึงจัดทำระบบเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกและตอบโจทย์การเข้าถึงการให้บริการ และป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ตลอดจนติดตามพฤติกรรมตลอดการให้บริการ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารมากขึ้น



        ส่วน TAXI VIP จะเป็นโครงการรถแท็กซี่ชนิดพิเศษ ใช้รถที่มีมาตรฐานขนาดตัวรถและสมรรถนะที่สูงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป และมีอุปกรณ์ส่วนควบเพิ่มเติมโครงการ TAXI OK ขึ้นไปอีกระดับ เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการแก่ประชาชนโดยผู้ประกอบการต้องเป็นนิติบุคคล ที่มีความพร้อมทางธุรกิจ มีแผนการประกอบการแบบมืออาชีพ ซึ่งร่างกฎกระทรวงทั้งสองฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งกระทรวงคมนาคมลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

        ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกแนะนำให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) เท่านั้น เนื่องจากเป็นรถที่ผ่านการตรวจสภาพความมั่นคงแข็งแรงปีละ 2 ครั้ง และผู้ขับรถมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถตรวจสอบประวัติและติดตามตัวได้ทันทีกรณีที่เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ รวมถึงผู้โดยสารจะได้รับการคุ้มครองสิทธิและชดเชยเยียวยาจากผู้ประกอบการตามกฎหมายในทุกกรณี

สำหรับช่องทางรับเรื่องร้องเรียน สามารถติดต่อช่องทางได้ดังนี้
     
        - สายด่วน 1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน ตลอด 24 ชั่วโมง
        - ทางเว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/
        - E-Mail dlt_1584complain@hotmail.com
        - Application ชื่อ "ร้องเรียนรถสาธารณะ" หรือ "dlt check-in"
        - FACEBOOK ชื่อ "ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584"
        - LINE ID ชื่อ "1584dlt"
        - ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ (GCC1111) ผ่านระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี
        - ทางจดหมาย/หนังสือร้องเรียน ส่งมายังกรมการขนส่งทางบก หรือร้องเรียนด้วยตนเอง ได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กองตรวจการขนส่งทางบก อาคาร 3 ชั้น 4





ภาพและข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขนส่งฯ ยัน เรียกรถโดยสารผ่านแอพฯ Uber-Grab ไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นเรียกรถป้ายดำ อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2560 เวลา 18:01:36 15,631 อ่าน
TOP
x close