ไขข้อข้องใจ ! มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติคืออะไร สำคัญอย่างไร



มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
โขน

          มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีสาระดี ๆ ที่อยากจะถ่ายทอดแนวทางในการสืบสานและรักษาสมบัติของชาติอันแสนล้ำค่ามาฝากค่ะ

          ในประเทศไทยเรานั้นทั่วทุกภูมิภาคล้วนมีวัฒนธรรม วิถีชีวิตอันหลากหลาย โดยแต่ละท้องถิ่นย่อมมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง ความรู้ การประพฤติปฏิบัติ ทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ วัตถุ ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของท้องถิ่นนั้นที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งต้องมีผู้ยอมรับและสืบทอดต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านี้จึงถือเป็นสมบัติล้ำค่าที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ให้ยั่งยืนค่ะ
          ปัจจุบันวัฒนธรรมเกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนจากผู้คนต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างความคิด ต่างความเชื่อ ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมได้รับผลกระทบ แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป แต่เพื่อเป็นการดำรงรักษาวัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และป้องกันการนำไปใช้ในทางเสียหาย ประเทศไทยจึงได้มีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น และมีผลบังคับใช้เมื่อ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

          หากถามว่า พ.ร.บ. ดีอย่างไร พ.ร.บ. นี้จะเป็นกลไก หรือมาตรการในการที่จะช่วยส่งเสริม รักษามรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่อย่างหลากหลายในประเทศไทยให้คงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังช่วยสร้างความตระหนัก รับรู้ และความสนใจ ใส่ใจถึงมรดกภูมิปัญญาที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศว่ามีสิ่งดี ๆ อะไรอยู่บ้าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมา และบางครั้งอาจจะลืมเลือน แต่เมื่อมีการรวบรวมค้นคว้าหาข้อมูลแล้ว บางอย่างก็จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะเรื่องคุณค่าทางจิตใจ ความภาคภูมิใจ หรือว่าด้วยเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการสร้างรายได้

          เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายขึ้นมาแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพระราชบัญญัติฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องใดบ้าง ตาม พ.ร.บ. นี้ จะครอบคลุมทั้งหมด ๖ เรื่อง ด้วยกันค่ะ

          ๑. แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล เช่น มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
เครื่องบูชาอย่างไทย

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
สงกรานต์

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
ชุดรดน้ำดำหัว

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
แห่เทียนพรรษา

          ๒.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เช่น นิทาน ตำนาน สุภาษิต ปริศนาคำทาย ภาษาไทย ภาษาถิ่น

          ๓. ศิลปะการแสดง เช่น ดนตรีและเพลงร้อง นาฏศิลป์ ละคร การแสดงพื้นบ้าน

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
หนังตะลุง

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
หนังใหญ่

          ๔. ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เช่น อาหารและโภชนาการ การแพทย์แผนไทย โหราศาสตร์และดาราศาสตร์

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
ต้มยำกุ้ง

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
ลูกประคบ

          ๕. งานช่างฝีมือดั้งเดิม เช่น จักสาน งานผ้า เครื่องปั้นดินเผา งานไม้ โลหะ เครื่องหนัง

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
ผ้าไหม


ผ้าทอมือ

          ๖. การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น มวยไทย ว่าวไทย การแข่งเรือ

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
มวยคาดเชือก

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
ว่าวไทย

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
ตะกร้อลอดห่วง

          สำหรับในส่วนของประเทศไทยได้มีการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘ ไปแล้วจำนวน ๓๑๘ รายการ เช่น โขน โนรา ลิเก / งานช่างแทงหยวก ผ้าแพรวา / บททำขวัญควาย ภาษาซอง ภาษาซัมเร / มวยไทย ว่าวไทย / สงกรานต์ พิธีกรรมขอฝน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ / สำรับอาหารไทย นวดไทย เป็นต้น

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
สำรับอาหารไทย

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
แทงหยวก

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
โนรา

          เราเป็นภาคีของยูเนสโกแล้วนะ รู้ยัง ? ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ลำดับที่ ๑๗๐ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ดังนี้

          - สามารถนำเสนอ "รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ" ที่เป็นของไทยต่อยูเนสโก ภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว อันเป็นการแสดงตัวตนของไทยในเวทีระดับนานาชาติ

          - สามารถขอความช่วยเหลือหรือความร่วมมือจากระหว่างประเทศ เช่น เรื่อง การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือการทำกิจกรรมร่วมกันกับประเทศสมาชิก รวมถึงการของบประมาณ หรือเทคนิคในการส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาฯ ของไทย

          - เป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชาติ และทำให้ชาติอื่นได้รับรู้ถึงมรดกภูมิปัญญาของไทย

          - ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต


มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

          นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้นำเสนอมรดกภูมิปัญญา "โขน" และ "นวดไทย" ต่อยูเนสโก เพื่อให้พิจารณาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) ซึ่งยูเนสโกจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ ๑ ปี และจะประกาศผลให้ทราบต่อไป

          ส่วนเหตุผลว่าทำไมจึงเลือก "โขน" ก็เพราะโขนได้รับการประกาศเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ อีกทั้งโขนยังเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่ประกอบด้วยหลายลักษณะที่โดดเด่นเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะการแสดง ดนตรีประกอบ การช่างฝีมือ (ผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฉาก) เป็นต้น และยังมีการสืบทอดต่อเนื่องทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา เช่น สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย
หน่วยงาน และชุมชนต่าง ๆ เช่นเดียวกับ "นวดไทย" ที่มีความพร้อมของข้อมูลสมบูรณ์ตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด และได้ดำเนินการเตรียมจัดทำข้อมูลรายละเอียดของรายการ มวยไทย อาหารสำรับไทย และโนรา ให้สมบูรณ์ เพื่อนำเสนอยูเนสโก ปีละ ๑ เรื่อง ตามลำดับต่อไป

          อย่าเข้าใจผิด !!! การประกาศขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกไม่ใช่การจดลิขสิทธิ์นะคะ เพราะการประกาศขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก เป็นการประกาศให้โลกได้รู้ว่า "มรดกภูมิปัญญา หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" นั้นมีอยู่ที่ใด ใครคือเจ้าของหรือผู้ถือปฏิบัติ ชุมชนไหนสืบทอดมรดกภูมิปัญญา และที่สำคัญ มรดกภูมิปัญญาหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาตินี้ ไม่ได้มีที่ตั้งหรือขอบเขตที่ชัดเจนเหมือนมรดกโลกที่เป็นวัตถุ ดังนั้น ประเทศใดที่สามารถหาหลักฐานเพื่อแสดงว่าประเทศตนมี "มรดก ภูมิปัญญา" นี้
ก็สามารถขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ร่วมกัน


          ต่างจากลิขสิทธิ์ ที่ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ต้องไปขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์ความเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ ตามกฎหมาย ปัจจุบันยูเนสโกได้มีการประกาศรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมไปแล้วราว ๆ ๓๙๑ รายการ โดยปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา มีการประกาศ ๒๘ รายการ เช่น รายการพิธีกรรมและเกมชักเย่อ เป็นมรดกร่วมของกัมพูชา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็นต้น

          มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นเสน่ห์ของสยามบ้านเรา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ เพื่อที่ว่าต่อไปในภายภาคหน้า รุ่นลูก รุ่นหลาน จะได้ตระหนักถึงความสำคัญ เห็นคุณค่า ของสิ่งเหล่านี้...เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสาระดี ๆ ที่เรานำมาฝาก แล้วอย่าลืมร่วมกันส่วนหนึ่งในการสืบสานมรดกภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่สืบไปด้วยนะคะ ^^


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อข้องใจ ! มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติคืออะไร สำคัญอย่างไร อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2560 เวลา 11:49:57 10,945 อ่าน
TOP
x close