
ทางศูนย์ข่าวประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เผยว่า ภายในเดือนมิถุนายน จะเกิด 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สุดแห่งปี ได้แก่
- วันที่ 9 มิถุนายน คือวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ "ไมโครมูน"
- วันที่ 15 มิถุนายน คือวันที่ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
- วันที่ 21 มิถุนายน คือวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หรือ "วันครีษมายัน"



ส่วนวันที่ 15 มิถุนายน ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เป็นผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร ช่วงดังกล่าวจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไปเลยทีเดียว ซึ่งจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และสังเกตด้วยตาเปล่าได้อีกด้วย


จากนั้นในวันที่ 21 มิถุนายน ที่เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ นั่นคือดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด โดยใช้เวลานานสุดเกือบ 13 ชั่วโมง และมีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่า "วันครีษมายัน" (ครี-ษะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice

ทั้งนี้ สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 15 มิถุนายน 2560 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น. ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ 3 จุด สังเกตการณ์หลัก ได้แก่
1. ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่
2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ ยังร่วมกับเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 265 แห่งทั่วประเทศ พร้อมตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ได้ที่ เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
ภาพและข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ