
รู้จัก ก๊าซไข่เน่า
ก๊าซไข่เน่า หรือ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ เป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ เกิดขึ้นจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ที่มีธาตุกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่น มูลสัตว์ ขยะของเสีย ซากสิ่งมีชีวิต หรือเป็นผลจากแบคทีเรียย่อยสลายซัลไฟด์ในสารอนินทรีย์ในสภาวะขาดออกซิเจน เช่น ในหนองน้ำ และท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ ก๊าซไข่เน่า ยังเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ได้แก่ กระบวนการกลั่นแยกปิโตรเลียม การผลิตสิ่งทอ การฟอกหนัง การทำเหมืองแร่ กระบวนการเกี่ยวกับการผลิตเยื่อกระดาษ กระบวนการบำบัดน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูล
ก๊าซไข่เน่า หรือ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ มีกลไกออกฤทธิ์คล้ายกับพิษของไซยาไนด์ คือ เข้าจับและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome oxidase ใน Mitochondria ทำให้เซลล์ไม่สามารถหายใจได้ เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ หากสูดดมมากจนแพร่เข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้ความสามารถในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง พิษจากก๊าซจะเข้าทำลายปอด ทรวงอก ไต ระบบทางเดินอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ความเข้มข้นของก๊าซไข่เน่า หากมีตั้งแต่ 10 ppm จะทำให้รู้สึกระคายเคืองตา หายใจติดขัด ความเข้มข้น ระดับ 65 ppm อันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ ความเข้มข้นระดับ 100 ppm จะเริ่มไอ หายใจติดขัด หากยังสูดดม เพียง 2-15 นาที จะหายใจติดขัด มีอาการมึนงง และหากความเข้มข้นระดับ 200 ppm จะแสบตาอย่างรุนแรง มึนงง หมดสติ และหากระดับความเข้มข้นของก๊าซไข่เน่าสูงถึงระดับ 600 ppm จะหมดสติ หรือเสียชีวิตทันที ซึ่งพิษของก๊าซไข่เน่าจะมีความรุนแรงสูงมาก หากอยู่ในพื้นที่ที่อับอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปอาการมักเกิดขึ้นทันที และทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ทำอย่างไร ถึงจะเอาตัวรอด
ก๊าซไข่เน่า โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะเกิดความเคยชินเมื่อเกิดกลิ่นเหม็น หรือว่ากลิ่นฉุน จึงไม่ทันระวังตัว โดยเฉพาะคนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ เมื่อสูดดมต่อเนื่องไปนาน ๆ จมูกจะสูญเสียการรับรู้กลิ่นไป ส่วนคนทั่วไปทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงในจุดที่มีการหมักหมมดังกล่าว หรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีกลิ่นเหม็นจากสิ่งปฏิกูล อีกทั้งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด เพื่อลดต้นทุนในการเดินบ่อบำบัด จึงถือว่ามีความเสี่ยงมากเช่นกัน
ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบเหตุผู้รอดชีวิต หรือก่อนลงไปช่วยในสถานที่เกิดเหตุ หากยังมีกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายของก๊าซไข่เน่า ต้องเร่งรีบระบายอากาศ หรือใส่หน้ากากออกซิเจน ลงไปช่วยนำร่างผู้เคราะห์ร้ายขึ้นมาในสถานที่อากาศปลอดโปร่ง ถอดเสื้อผ้าที่คับแน่นออก และต้องตั้งสติ เรียกขอความช่วยเหลือทางการแพทย์หรือหน่วยกู้ชีพ หากพบการหยุดหายใจ ต้องรีบปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) อย่างถูกวิธี
- วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยผู้ประสบเหตุรอดชีวิต
จะเห็นว่า ก๊าซไข่เน่า หรือ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ เป็นก๊าซพิษที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ทุกฝ่ายควรตระหนักถึงภัยอันตราย และแนวทางป้องกันก๊าซพิษชนิดนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
dpm.nida.ac.th, summacheeva.org, siamchemi.com,
