
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เตือน 30 จังหวัด ภาคเหนือ-อีสานตอนบน-ตะวันออก-ใต้ฝั่งตะวันตก เตรียมพร้อมรับมือฝนถล่มหนักช่วง 4-6 ส.ค. นี้ สกลนคร - นครพนมอ่วมสุด แม้ไม่เท่าพายุเซินกา แต่ส่งผลระบายน้ำช้าลง 1-2 วัน
วันที่ 4 สิงหาคม 2560 มีรายงานว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการแจ้งเตือน ในช่วงวันที่ 4-6 สิงหาคม นี้ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในพื้นที่จุดเสี่ยงรวม 30 จังหวัด ประกอบด้วย

- ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู, หนองคาย, บึงกาฬ, อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ยโสธร, ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และจังหวัดตราด
- ภาคใต้ฝั่งตะวันตก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง, พังงา, ภูเก็ต และจังหวัดกระบี่
ทั้งนี้ บริเวณที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งปริมาณฝนนั้นอาจจะมีหนักในบางจังหวัด นั่นคือ จังหวัด ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และจังหวัดชัยภูมิ
อย่างไรก็ตาม แม้หย่อมกดอากาศต่ำที่พัดผ่านในครั้งนี้จะไม่หนักเท่ากับพายุเซินกา แต่จะทำให้พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังหนักอยู่แล้วเช่น จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม จะทำการการระบายน้ำช้ากว่าที่คาดไว้ประมาณ 1-2 วัน

นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนประชาชนเพื่อรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขง, แม่น้ำชี, และแม่น้ำมูล เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมารน้ำที่ไหลมาสมทบจากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง และท่วมขัง ได้แก่
1. จังหวัดอุดรธานี
- อำเภอบ้านดุง
- อำเภอเมือง
2. อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
3. จังหวัดกาฬสินธุ์
- อำเภอยางตลาด
- อำเภอเมือง
- อำเภอร่องคำ
- อำเภอกมลาไสย
- อำเภอฆ้องชัย
4. อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
5. จังหวัดขอนแก่น
- อำเภอเมือง
- อำเภอน้ำพอง
- อำเภอชนบท

6. อำเภอเมือง จังหวัดหนองบังลำภู
7. จังหวัดมหาสารคาม
- อำเภอเมือง
- อำเภอโกสุมพิสัย
8. จังหวัดร้อยเอ็ด
- อำเภอจังหาร
- อำเภอเสลภูมิ
- อำเภอทุ่งเขาหลวง
- อำเภอเชียงขวัญ
- อำเภอธวัชบุรี
- อำเภออาจสามารถ
- อำเภอพนมไพร
9. จังหวัดยโสธร
- อำเภอเมือง
- อำเภอมหาชนะชัย
- อำเภอค้อวัง
- อำเภอคำเขื่อนแก้ว
10. จังหวัดอุบลราชธานี
- อำเภอเมือง
- อำเภอเขื่องใน
- อำเภอวารินชำราบ
- อำเภอสว่างวีระวงศ์
ภาพและข้อมูลจาก
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, สำนักข่าว INN,
