ผู้ช่วยเจ้าอาวาส แจง ทีมบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่ได้เอากระเบื้องโบราณออก ชี้ภาพถูกนำไปเทียบเป็นคนละจุด ยันผ่านไปอีกระยะหนึ่งเมื่อเกิดตะไคร่ก็จะกลับมาสีเขียวเช่นเดิม จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อ รศ. ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค ซึ่งเป็นรูปของพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง ที่ถูกบูรณะใหม่จนกลายเป็นโทนสีขาว พร้อมระบุข้อความว่า...
"บูรณะแบบไหน ถึงมาแปลงโฉมพระปรางค์
วัดอรุณเป็นโทนสีขาว
แกะกระเบื้องหลากสีจากจานเคลือบสีโบราณล้ำค่าหายออกไปแล้ว ทำแบบนี้ทำไม
ใครรู้ช่วยตอบด้วย สร้างความตกใจและตื่นตะลึงกับ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวัดที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 100 ปี"
ล่าสุด
วันนี้ (16 สิงหาคม 2560) พระมหาบุญส่ง สิริโชติ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ได้พาทีมข่าวเข้าตรวจสอบองค์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
พร้อมอธิบายว่า ตามที่เป็นข่าวในสื่อโซเชียล
ว่ามีการเอากระเบื้องเก่าที่มีลวดลายงดงามออกไปนั้น ขอยืนยันว่า
ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ยังเป็นโบราณสถาน ที่ผ่านมาในช่วง 50
ปี ทางกรมศิลปากร ได้เข้ามาบูรณะองค์พระปรางค์ไปแล้ว 3 ครั้ง
รวมครั้งนี้ด้วยที่ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาเริ่มบูรณะเมื่อวันที่ 24 กันยายน
2556 และเสริจสิ้นไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 โดยไม่มีช่างเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ส่วนภาพที่มีการนำไปลงเปรียบเทียบเป็นองค์ยักษ์ที่มีลวดลายของกระเบื้องลดน้อยลงไป
เป็นเพราะผู้โพสต์ได้นำภาพองค์ยักษ์ใต้ฐานพระปรางค์องค์หลัก
ไปเปรียบเทียบกับองค์ยักษ์ ใต้มณฑปทิศ (ที่มีอยู่ 4 ด้าน)
ที่มีลวดลายน้อยกว่า ส่วนพื้นที่ว่างโดยทั่วไปที่มองว่าออกโทนสีขาว
เป็นเพราะเมื่อทำการบูรณะเสร็จใหม่ ๆ เนื้อปูนก็จะมีสีขาว
แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ 3-5 ปี ก็จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นสีเขียวเหมือนเดิม
เนื่องจากผลจากเชื้อราและตะไคร่เกาะ