เผยรูปแบบ การถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 และธรรมเนียมปฏิบัติ ตั้งแต่อดีต


งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

             คลังประวัติศาสตร์ไทย ให้ความรู้ ข้อมูลรูปแบบและธรรมเนียม ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เผยใช้วิธีการสุมเพลิงพระบรมศพในเตาไฟฟ้า โดยอัญเชิญพระบรมโกศมาตั้งประกอบเป็นเกียรติยศ

             ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นนับเป็นงานพระราชพิธีใหญ่ ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณ แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัยเช่นกัน

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

            
โดยล่าสุด (21 ตุลาคม 2560) เพจ "คลังประวัติศาสตร์ไทย" ก็ได้นำเสนอข้อมูลรูปแบบและธรรมเนียม ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง ซึ่งจะนำมาใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พบว่าจะใช้วิธีการสุมเพลิงพระบรมศพในเตาไฟฟ้า โดยมีการติดตั้งเตากึ่งไฟฟ้าที่มีการระบายควัน อยู่บนจิตกาธาน (เชิงตะกอนหรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ) จุดที่มีการถวายดอกไม้จันทน์ โดยด้านบนของจิตกาธานนั้นก็จะอัญเชิญพระบรมโกศมาตั้งประกอบเป็นเกียรติยศ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง เตาสุมเพลิงทำงาน เจ้าพนักงานจะเปิดฝาพระโกศออก ปิดพระฉากบังเพลิง ให้เหมือนโบราณราชประเพณี

สำหรับรูปแบบการถวายพระเพลิงพระบรมศพทั้งหมดนั้น ปัจจุบันในราชสำนัก มีอยู่ 4 รูปแบบ ดังนี้

1. การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีที่พระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ)

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

             การสุมเพลิงรูปแบบนี้เป็นแบบโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่ในปัจจุบันนี้ไม่พบว่ามีการถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธานอีกแล้ว เนื่องจากควบคุมเพลิงได้ยาก เจ้าพนักงานจะต้องคอยฉีดน้ำและควบคุมทิศทางลมอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับปัจจุบันมีการนำเตาเผาสมัยใหม่เข้ามาใช้ทดแทน โดยจากภาพคืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2528

2. การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีพระบรมศพอยู่ในหีบ)

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

             รูปแบบนี้เป็นราชประเพณีที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า โดยทางสำนักพระราชวังได้ทำการตั้งหีบพระบรมศพบนพระจิตกาธาน แล้วนำพระบรมโกศ (โกศเปล่า) วางบนหีบพระบรมศพอีกชั้นหนึ่ง

3. การสุมเพลิงพระบรมศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในหีบ)

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

             รูปแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีกระบวนการต่าง ๆ คล้ายกับงานพระบรมศพของสมเด็จย่า แต่จะแตกต่างกันตรงที่ได้อัญเชิญหีบพระศพลงจากพระจิตกาธาน เข้าไปพระราชทานเพลิงในเตาเผาไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุแทน

4. การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในพระโกศ)

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

             เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งพระศพของพระองค์ประดิษฐานอยู่ในพระโกศตามโบราณราชประเพณี แต่เมื่อถึงเวลาพระราชทานเพลิงพระศพจริงนั้น เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระโกศลงจากพระจิตกาธานเพื่อไปพระราชทานเพลิงยังเตาไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกแทน โดยเตาไฟฟ้าจะมีขนาดใหญ่และสูงกว่าปกติ เพื่อที่สามารถอัญเชิญพระโกศเข้าไปภายในเตาไฟฟ้าได้




  ภาพและข้อมูลจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยรูปแบบ การถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 และธรรมเนียมปฏิบัติ ตั้งแต่อดีต อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2560 เวลา 15:28:02 65,281 อ่าน
TOP