x close

เปิดที่มาที่ไป การเผาหลอก-เผาจริง ธรรมเนียมโบราณที่เริ่มในสมัย ร.5



          เปิดเกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้ การเผาหลอก และ การเผาจริง ธรรมเนียมที่ปฏิบัติเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 และสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน

          วันที่ 26 ตุลาคม 2560 เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้เปิดเผยข้อมูลที่มาที่ไป และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมจะถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิงเสร็จภายในครั้งเดียว ไม่ได้มีพิธีศพ 2 ครั้ง หรืออย่างที่เรียกกันว่า การเผาหลอก และ การเผาจริง 
          วิธีการเผาหลอก และ การเผาจริงนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อราว ๆ ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในขณะนั้น เรียกวิธีการนี้ว่า เปิดเพลิง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้บันทึกเกี่ยวกับที่มาและความแพร่หลายของพิธีนี้ว่า

          "แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวง ในตอนปลาย ๆ รัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพ เดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิง จึงปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสีย และคอยระวังถอนธูปเทียนออกเสียจากภายใต้เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง ต่อตอนดึกเมื่อผู้คนที่ไปช่วยงานกลับกันหมดแล้ว จึงเปิดไฟและทำการเผาศพจริง ๆ ในเวลาที่เผาจริง ๆ เช่นว่านี้ มักมีพวกเจ้าภาพอยู่ที่เมรุบ้าง จึงเกิดนึกเอาผ้าทอดให้พระสดัปกรณ์บ้างตามศรัทธา ดังนี้จึงเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า ผู้ที่มิใช่ญาติสนิทให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง ญาติสนิทเผาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเปิดเพลิง กรมนเรศร์เป็นผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเป็นผู้ตั้งศัพท์ เผาพิธี และ เผาจริง ขึ้น เลยเกิดถือกันว่าผู้ที่เป็นญาติและมิตรจริงของผู้ตายถ้าไม่ได้เผาจริงเป็นการเสียไป และการเผาศพจึ่งกลายเป็นเผา 2 ครั้ง"

          งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2453 ถือเป็นงานระดับพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ที่ได้รับการถวายพระเพลิงตามธรรมเนียมการเผาหลอกและการเผาจริงนี้ โดยเริ่มจากการอัญเชิญพระบรมศพจากที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ออกมาถวายพระเพลิงยังพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งกระทำภายในวันเดียว

          ส่วนการเปิดเพลิงนั้น จะกระทำตอนกลางคืน นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมในบางประการเพิ่มเติม อย่างเช่น การงดใช้หยวก มะละกอ และฟักทองแกะสลักประดับแท่นจิตกาธาน แต่ใช้ดอกไม้สดแทน และในระหว่างการถวายพระเพลิง เหล่าทหารได้บรรเลงแตรวง พร้อมกับยิงปืนใหญ่ ปืนเล็ก เสียงกึกก้อง เป็นการถวายพระเกียรติยศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ได้กลายเป็นระเบียบปฏิบัติต่อการจัดงานพระบรมศพ และพระศพต่อเนื่องกันมานับแต่นั้น

          งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือว่ายังคงธรรมเนียมเดิม เช่นเดียวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยจะเห็นได้จากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระราชพิธีเริ่มในตอนเย็นของวันที่ 10 มีนาคม 2539 ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีทางฝ่ายสงฆ์ในพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระเมรุมาศ

          ต่อมาในเวลา 17.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับธูปเทียนดอกไม้จันทน์จากเจ้าพนักงาน ทรงจุดไฟเทียนชนวน แล้วทรงวางไว้ใต้ท่อนไม้จันทน์บนพระจิตกาธานที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ ทรงถวายบังคมพระบรมศพ ส่วนการถวายพระเพลิงจริงนั้น เริ่มเวลา 22.43 น. หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมายังพระเมรุมาศ และเสร็จสิ้นพิธีการทางศาสนาในพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว

          สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น การเผาหลอกและการเผาจริง ก็ยังคงยึดถือตามธรรมเนียมเดิม โดยหมายกำหนดการระบุว่า พิธีทางสงฆ์จะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 16.30 น. โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินมายัง พระที่นั่งทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรมที่พระเมรุมาศ หลังจากนั้น สมเด็จพระสังฆราชถวายพระธรรมเทศนา

          เมื่อจบแล้ว พระราชาคณะ 50 รูป สวดศราทธพรต ถวายไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร ถวายพระเทศน์ และพระสงฆ์ที่สวดศราทธพรต สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จฯ ไปประทับที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ต่อจากนั้น ตัวแทนจิตอาสาถวายพานดอกไม้จันทน์ 9 พาน

          ต่อมาในเวลา 17.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ขึ้นพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเสด็จฯไปประทับมุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม จากนั้นพระราชทานพระราชานุญาตให้ สมเด็จพระสังฆราช สมด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ พระประมุข ประมุข พระราชวงศ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ฯลฯ ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลำดับ หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข ประมุข พระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ 

          เวลา 20.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งทรงธรม เพื่อเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเมื่อถึงเวลา 22.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับมุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม โดยเจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธาน หลังจากนั้น พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ


ภาพและข้อมูลจาก
silpa-mag.com, ratchakitcha

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดที่มาที่ไป การเผาหลอก-เผาจริง ธรรมเนียมโบราณที่เริ่มในสมัย ร.5 อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2560 เวลา 16:25:29 118,501 อ่าน
TOP