
ปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 30 เป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่กลับมีการรีไซเคิลนำมาใช้ประโยชน์จริงเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันแก้ไข เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
"ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste)" เป็นแนวคิดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ซึ่งเป็นแนวทางในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดให้ลดเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ ซึ่งหัวใจสำคัญของแนวคิดขยะเหลือศูนย์ คือ การจัดการขยะที่ต้นทาง เน้นการลดขยะ การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ก่อนนำไปกำจัด ซึ่งแตกต่างจากการจัดการขยะในปัจจุบันที่เน้นการกำจัดหรือจัดการขยะที่ปลายทาง มากกว่าการแก้ไขที่ต้นทาง โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้านของเราเอง และทุกคนในครอบครัวลงมือทำได้ทันที ด้วยหลักการ 3Rs ได้แก่


2. Reuse คือ การใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้อีก เป็นการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การนำขวดแก้วมาใช้ซ้ำ นำกระดาษมาใช้ให้ครบทั้ง 2 หน้า ซ่อมแทนการซื้อใหม่ การบริจาคเสื้อผ้าแทนการทิ้ง การใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง เช่านิตยสารหรืออ่านอีบุ๊ค

3. Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ การคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิล เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก และโลหะ/อโลหะ ออกจากขยะประเภทอื่น ๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ผลิตแก๊สชีวภาพ

นอกจากนี้ หลายคนคงเคยเห็นถังขยะหลากสีที่ตั้งเรียงกันอยู่ และเกิดอาการทิ้งมั่วเพราะไม่แน่ใจว่าสีไหนควรจะทิ้งอย่างไร ซึ่งถังขยะโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท คือ ถังขยะมีพิษ (สีเทา ฝาแดง) ถังขยะย่อยสลาย (สีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) และถังขยะทั่วไป (สีฟ้า) ซึ่งการทิ้งตามประเภทถังขยะเหล่านี้ จะทำให้ง่ายต่อการไปกำจัดต่อไป

บางคนอาจจะคิดว่าแค่แยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายก็ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ลดปัญหาหรือมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งหากทุกครอบครัวเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลง และเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
