นักวิชาการชี้ ต้องกำจัดหนอนนิวกินี ไม่อย่างนั้นจะเป็นภัยต่อทวีปเอเชีย และโลก ผงะ ศึกษา 1 อาทิตย์ สับ 4 ท่อน ยังมีชีวิตอยู่งอกเป็นตัวใหม่
จากกรณีการพบหนอนตัวแบนนิวกินี ในประเทศไทย ซึ่งถูกจัดอันดับจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น ว่า เป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก โดยมีถิ่นกำเนิดในนิวกินี และออสเตรเลีย โดยวิธีกำจัดคือ ให้ใช้น้ำร้อนลวกหรือหยอดด้วยเกลือป่น ห้ามใช้การสับหรือหั่น เพราะจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้ และจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก [อ่านข่าว : หนอนตัวแบนนิวกินี โผล่ไทย สุดอันตราย สับไม่ตายแถมขยายพันธุ์เพิ่ม คลิก]
ด้านนายจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล นักศึกษาปริญญาโท คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากการเก็บตัวอย่างหนอนตัวแบนนิวกินี มาไว้ที่ห้องปฏิบัติการในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ได้มีการควบคุมความชื้น เพราะถ้าอากาศแห้งมากเกินไปจะทำให้หนอนตัวแบนนิวกินีตายได้
ส่วนหนอนตัวแบนนิวกินีที่ถูกตัดออกเป็น 4 ส่วน ยังมีการเดินอยู่ หมายความว่าทั้ง 4 ส่วนยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของปลิง หากถูกตัดเป็น 2 ท่อน ส่วนหัวจะยังมีชีวิตอยู่และเดินต่อไปได้ แต่ส่วนท้ายจะสามารถเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยแล้วหยุดไปหรือตายนั่นเอง
นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า หนอนตัวแบนนิวกินี ก็เหมือนกับผักตบชวา หรือ หอยทากยักษ์แอฟริกา ที่ในช่วงแรกอาจไม่น่ากังวล แต่ต่อมาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ขณะนี้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ากินทากทั้งมีเปลือก และไม่มีเปลือกเป็นอาหาร ส่วนผลกระทบกับสัตว์อื่นยังไม่ทราบแน่ชัด จึงอยู่ในขั้นเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาด แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีงบประมาณหรือ พ.ร.บ. เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการแพร่กระจายของสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้ จึงอาจต้องประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อติดตามผลกระทบในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน
ด้านนายมงคล อันทะชัย เจ้าของบ้านที่พบการระบาดของหนอนตัวแบนนิวกินีในเขต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี บอกว่า ไม่ค่อยกังวลมากนักแม้นักวิชาการจะบอกว่าหนอนที่พบในบ้านเป็นอันตราย โดยคิดว่ายังอยู่ในการควบคุมและกำจัดได้ โดยใช้เกลือกับน้ำร้อนลวกให้ตาย เบื้องต้นพบประมาณวันละ 10 ตัวขึ้นไป แต่มันจะอยู่ตามพื้นที่ชื้นแฉะ ตามใบไม้ และออกมาหากินในช่วงเวลากลางคืนเพื่อกินหอยทาก
ภาพและข้อมูลจาก
, เฟซบุ๊ก Ton Sirawat