Thailand Web Stat

ไทยร่วมประชุมอากาศโลก เสนอแนวคิดผนึกกำลังลดก๊าซเรือนกระจก

การประชุม COP

            การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม COP เป็นการประชุมประจำปีของประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาจัดทำกฎ ระเบียบ กติกาและกรอบการดำเนินงานใหม่ ๆ รวมทั้งประชุมหารือถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุม COP ปีนี้ เป็นสมัยที่ 23 จัดขึ้น ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีประเทศ "ฟิจิ" เป็นประธานของการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ณ Plenary New York, Bula Zone

            การประชุม COP 23 จะดำเนินการประชุมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 โดยมีวิสัยทัศน์ที่เน้นความคืบหน้าของแผนการจัดทำกฎ ระเบียบและแนวทางการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส (Paris rulebook) ให้แล้วเสร็จและรับรองภายในปี ค.ศ. 2018 และเร่งการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศหมู่เกาะที่ได้รับผลกระทบสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบ การสนับสนุนทางด้านการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCs)
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ แบ่งพื้นที่การประชุมออกเป็น 2 ส่วน คือ

            "Bula Zone" เป็นโซนสำหรับการประชุม การเจรจาอย่างเป็นทางของแต่ละประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิก

            "Bonn Zone" เป็นโซนสำหรับการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศภาคีสมาชิก และองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วม รวมทั้งเป็นสถานที่เพื่อให้ผู้แทนแต่ละประเทศใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุม COP

            สำหรับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการ บนพื้นที่ 200 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด Thailand Climate Action through Multi-Stakeholder Partnerships เพื่อนำเสนอข้อมูลและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเผยแพร่แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม อาทิ แนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เป็นต้น

            รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนา (Side Event) ในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งความร่วมมือภายในประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ หัวข้อ Community - based Forestry Management : a Step to Sustainable Reforestation and forest Protection ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่จะมานำเสนอโมเดล การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้โดยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่าน หรือ แม่ฟ้าหลวงโมเดล และอีกหัวข้อที่น่าสนใจคือ เรื่อง Boosting Climate Actions in Southeast Asian Countries through the Roles of Capacity Building ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ TGO หรือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมานำเสนอถึงการพัฒนาศักยภาพในการเตรียมรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ Climate Change International Technical and Training หรือ CITC

การประชุม COP

            นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำเสนอแนวคิด "A Smart World Collective Actions for a Changing Climate" เน้นการดำเนินงานในทุกภาคส่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในภาคของป่าไม้ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และภาคของเสีย รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาอีกด้วย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยร่วมประชุมอากาศโลก เสนอแนวคิดผนึกกำลังลดก๊าซเรือนกระจก อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13:54:33 1,437 อ่าน
TOP
x close