
การประชุม COP23 หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) สมัยที่ 23 ที่เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพื่อที่สมาชิกรัฐภาคี 196 ประเทศ จะมาร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ รวมทั้งความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ผ่านมาตรการต่าง ๆ ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2558 ที่ 196 ประเทศร่วมกันลงนาม เพื่อให้โลกร้อนไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ในปี 2573 และจะเพิ่มระดับความเข้มงวดขึ้นไปสู่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามลำดับ โดยประเทศไทยลงนามในลำดับ 151 เพื่อปกป้องโลกจากภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หากประชาคมโลกนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ภายในปี 2573 โลกจะร้อนขึ้นอีก 4.2 องศาเซลเซียส ทำให้ทะเลและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมหาศาล โลกจะแปรปรวนถึงขีดสุด ซึ่งเหตุดังกล่าวไม่ใช่ต้องรอถึงปี 2573 แต่จะค่อย ๆ ร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี
โดยประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องให้ที่ประชุมเห็นความสำคัญของประเด็นการดำเนินงานในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2020 เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นฐานช่วยเพิ่มระดับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสหลังปี ค.ศ. 2020 โดยเรียกร้องให้กำหนดเป็นวาระเพิ่มเติม เพื่อให้ภาคีได้มีโอกาสในการหารือเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากประธานการประชุม COP23 ได้แก่ ประเทศฟิจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ดังนั้น สาระหลักประการหนึ่งของการประชุมในครั้งนี้ คือ การให้ความสำคัญในประเด็นการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น จากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศหมู่เกาะได้ผนวกประเด็นนี้มาหารือในหัวข้อต่าง ๆ เช่น Facilitative Dialogue 2018 หรือ Talanoa Dialogue เพื่อทบทวนการดำเนินงานและเตรียมการด้านต่าง ๆ ร่วมกัน ตามข้อตกลงปารีสหลังจากมีการรับรองตั้งแต่ COP21
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และ Global stocktake เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มประเทศหมู่เกาะยังเรียกร้องให้ประเด็นการสูญเสียและความเสียหาย เป็นหัวข้อถาวรในวาระการประชุมขององค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งให้มีการรายงานผลการดำเนินงานในทุก ๆ ปี
ในส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้มีการผลักดันให้นำกองทุนการปรับตัว (Adaptation Fund) ภายใต้พิธีสารเกียวโตมาปรับใช้ตามข้อตกลงปารีสในการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อดำเนินกิจกรรมของประเทศกำลังพัฒนาในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีการหารือและเจรจาถึงแผนงานด้านการเงินระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมายทางการเงินระยะยาวใหม่ให้มากกว่าฐานการระดมทุนในปัจจุบัน (แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี)
อีกทั้งให้ความสำคัญต่อปัญหาและเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศ ที่กำลังเผชิญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ภายใต้การกำกับและแนะนำของ COP ที่กำลังเรียกร้องเงื่อนไขและข้อกำหนด รวมทั้งตั้งหลักเกณฑ์และคุณสมบัติใหม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในข้อตัดสินใจของการประชุมของ COP ส่งผลให้เกิดภาระเพิ่มเติม และอุปสรรคแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
สำหรับบรรยากาศของการประชุมในสัปดาห์แรกเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยภาคีตระหนักถึงความเร่งด่วนของภารกิจการเตรียมความพร้อมต่อการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส ซึ่งจำเป็นต้องมีร่างเอกสารเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการหารือในปี 2560 โดยกลุ่ม 77 และจีน รวมถึงประเทศไทยต้องการเห็นความก้าวหน้าของการเจรจาในแต่ละประเด็นอย่างสมดุลและมีกระบวนการเจรจาที่โปร่งใส
ทั้งนี้ การประชุมขององค์กรต่าง ๆ มีความก้าวหน้าไปหลายหัวข้อ ซึ่งบางหัวข้อการเจรจาภายใต้ SBSTA47 และ SBI47 ได้มีการจัดทำข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อการประชุม Plenary Closing SBSTA47/SBI47 Meetings ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายหัวข้อ โดยเฉพาะหัวข้อการเจรจาภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความตกลงปารีส หัวข้อที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Implementation of response measures) หัวข้อที่เกี่ยวกับมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส (market, non-market และ cooperative approach) และหัวข้อที่เกี่ยวกับการเงิน ยังมีความก้าวหน้าช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ยังมีความเห็นและข้อเสนอที่แตกต่างกัน
โดยการประชุม COP23 ผู้แทนจากประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมในทุกวาระอย่างต่อเนื่อง และได้นำเสนอข้อคิดเห็นในที่ประชุมวาระผลกระทบของการดำเนินงานต่อมาตรการการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวาระที่เกี่ยวข้องกับข้อ 6 ของข้อตกลงปารีส โดยความเห็นที่นำเสนอสอดคล้องกับกรอบท่าทีเจรจาของไทย ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 23 (COP23) ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา