วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม นี้ จะเกิดปราฏการณ์ ซูเปอร์มูน (Supermoon) ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่ระยะห่างประมาณ 357,973 กิโลเมตร ในคืนนั้นจะเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย มีขนาดใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุด 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30% สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ตก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ปกติดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง
อย่างไรก็ดีแม้ว่าในวันที่ 3 ธันวาคม นี้ เราจะได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวงใหญ่ที่สุดในปี 2560 แต่ในวันที่ 2 มกราคม 2561 จะมีการปรากฏให้เห็นขนาดใหญ่กว่าครั้งนี้เล็กน้อย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก