เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 เว็บไซต์เอเชียไทมส์ มีรายงานว่า แบร์รี โบรแมน ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดี เรื่อง ใครฆ่าจิม ทอมป์สัน (Who Killed Jim Thompson) ได้เผยทฤษฎีใหม่ที่จะมาไขปริศนาเกี่ยวกับเรื่องราวการหายตัวไปของ จิม ทอมป์สัน ชายชาวอเมริกัน ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะตำนานราชาผ้าไหมไทย การหายตัวไปอย่างลึกลับของเขา นับเป็นหนึ่งในปริศนาอันเก่าแก่ของเอเชีย ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ใดสามารถหาคำตอบหรือคลี่คลายได้ โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน ที่อ้างว่าจะเป็นคำตอบไขปริศนาดังกล่าว จะถูกนำมาเปิดฉายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 6 ธันวาคม หลังจากที่เคยฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติยูจีน สหรัฐอเมริกา
รายงานเผยว่า ในวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2510 ในระหว่างที่ จิม ทอมป์สัน กำลังพักผ่อนกับเพื่อนอยู่ที่บ้านพัก Moonlight Cottage ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงบ่าย เขาได้ออกไปเดินเล่นที่บริเวณป่าบนเนินเขาในพื้นที่คาเมรอน ไฮแลนด์ ก่อนจะมีบางอย่างเกิดขึ้น จิม ทอมป์สัน ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเขาอีกเลย การหายตัวของเขากลายเป็นปริศนามาเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ การออกค้นหาด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่เป็นผลสำเร็จ ไม่มีทั้งการติดต่อเรียกค่าไถ่ หรือข้อความใด ๆ ทิ้งไว้ มีผู้เขียนหนังสือหลายรายวิเคราะห์เกี่ยวกับชะตากรรมของเขาตามทฤษฎีต่าง ๆ ตั้งแต่การเสียชีวิตโดยธรรมชาติจากฝีมือของสัตว์ร้าย เช่นเสือ ไปจนถึงการถูกฆาตกรรม
โดยแนวคิดนี้ มาจากคำสารภาพของ เตียวป็อกฮวา ผู้เป็นลุงของเตียวปิน และเป็นอดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการอาวุโสของพรรคมานานหลายทศวรรษ และเคยร่วมต่อสู้กับอังกฤษ รวมถึงมาเลเซียในเวลาต่อมา
โดยเตียวปินเผยว่า เตียวป็อกฮวา ลุงของเขา ได้เล่าว่า ในขณะที่ทอมป์สันไปถึงคาเมรอน ไฮแลนด์ เขาได้ขอติดต่อกับ ชินเป็ง เลขาธิการทั่วไปของพรรค CPM ซึ่งนับเป็นบุคคลสำคัญของพรรค และต่อมาได้กลายเป็นบุคคลที่ต้องการตัวมากที่สุดในมาเลเซีย การขอติดต่อบุคคลสำคัญของทอมป์สัน กลายเป็นการกระตุ้นความสงสัย อีกทั้งบ้านพัก Moonlight Cottage ซึ่งมีชื่อของทอมป์สันเป็นแขกที่เข้าพัก ครั้งหนึ่งยังเคยเป็นศูนย์บัญชาการท้องถิ่นของพรรคด้วย
ในปี 2510 นั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง สำหรับทอมป์สัน ชาวอเมริกันผู้มีอายุ มีพื้นเพทำงานเกี่ยวกับหน่วยข่าวกรอง และต้องการจะติดต่อกับหนึ่งในบุคคลที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในประเทศมาเลเซีย ในขณะนั้นการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่จบ เกิดภาวะฉุกเฉินเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งที่สอง และยังคงดำเนินไปจนกระทั่งคอมมิวนิสต์มลายูยอมจำนนในปี 2532 ทอมป์สัน อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังในขณะที่ทางพรรคดำเนินการตรวจสอบภูมิหลังของเขา โดยพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลว่า ชาวอเมริกันคนนี้เคยเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทอมป์สันจึงถูกสงสัยว่า เป็นสายลับ
ในขณะนั้น การสื่อสารเป็นเรื่องยากสำหรับพรรค CPM พวกเขาขาดแคลนการใช้วิทยุติดต่อ ต้องอาศัยวิธีการส่งสาสน์ติดต่อกันภายในกลุ่มต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่ในประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงสำนักงานใหญ่ของพวกเขาในชายแดนเบตง โดยสมาชิกพรรค CPM แต่ละคน จะมีวิธีการจัดการปัญหาด้านความปลอดภัยของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะดำเนินการตามท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีแนวโน้มที่ว่า ทอมป์สันอาจถูกฆ่าตายโดยสมาชิกพรรค CPM ในปี 2510 ก่อนพวกเขาจะทำลายหลักฐานทิ้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เตียวปิน บอกว่า ข้อมูลที่เขาเล่ามานั้นไม่มีผู้ใดที่สามารถให้การยืนยันได้ แม้แต่ภรรยาและลูกของลุงผู้เปิดเผยเรื่องดังกล่าว
การสืบค้นปริศนาของทอมป์สัน เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ โดยน้อย ได้เผยข้อมูลต่อ แบร์รี โบรแมน ระบุว่า เขาได้ข้อมูลแหล่งที่สองซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการถูกสังหารในข้างต้น โดยเป็นข้อมูลจาก วิลลิส เบิร์ด จูเนียร์ เพื่อนของน้อย ซึ่งมีข้อมูลที่เก็บเป็นความลับ และไม่เคยเปิดเผยกับใครมานานกว่า 50 ปี โดยเขาเผยว่า พ่อของเขาคือ วิลลิส เบิร์ด ซีเนียร์ เป็นเพื่อนสนิทของทอมป์สัน พ่อและทอมป์สันได้มีโอกาสใกล้ชิดกับปรีดี เมื่อครั้งที่ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2489 จากนั้นในปี 2509 วิลลิสได้บอกกับทอมป์สันว่า ปรีดีซึ่งขณะนั้นถูกเนรเทศไปยังจีน ต้องการให้วิลลิสไปพบ ซึ่งวิลลิสคิดว่ามันเป็นความคิดที่ไม่ดี เนื่องจากขณะนั้นสหรัฐฯ และไทยต่างมีส่วนร่วมอย่างมากในสงครามเวียดนามและลาว วิลลิสจึงไม่ต้องการจะติดต่อใด ๆ กับปรีดี แต่ทอมป์สันมีความภักดีต่อปรีดี และบอกว่า เขาจะเผชิญเส้นทางอันตรายนี้เอง
และเส้นทางอันตรายแรกคือ คาเมรอน ไฮแลนด์ วิลลิส กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นผู้ฆ่าทอมป์สัน และอาจจะเป็นไปตามคำสั่งของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน
จากข้อมูลของวิลลิสผู้พ่อ และเตียวป็อกฮวา ลุงของเตียวปิน ทำให้ได้ข้อสรุปออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ทอมป์สันถูกสังหารโดยพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ขณะที่อยู่ที่มาเลเซีย
ทั้งนี้ แบร์รี โบรแมน ยังทิ้งท้ายว่า ทอมป์สันไม่ได้ตั้งใจเข้าไปมีส่วนร่วมและตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้ทางอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ดี คำถามที่ยังคงค้างคาอยู่คือ ทำไมทอมป์สันถึงต้องขอพบบุคคลสำคัญของพรรคอมมิวนิสต์มลายา จนตกเป็นเป้าน่าสงสัย และนำชีวิตของเขาไปตกอยู่ในอันตราย มันเป็นเรื่องน่าขันที่ ทอมป์สัน ผู้ที่วางมือจากการเป็นสายลับ และหันหลังให้กับการเมือง กลับพาตัวเองกลับเข้าไปในเกมเพื่อที่จะช่วยเหลือเพื่อนเก่า ?
ภาพจาก jimthompson.com
ข้อมูลจาก
fccthai.com,