Thailand Web Stat

รัฐ-NGO-เอกชน ถกทางออก ถุงพลาสติก เราใช้ ใคร ต้องจ่าย ?


            ตัวแทนทุกภาคส่วน ร่วมวงเสวนา "ถุงพลาสติก" เราใช้ "ใคร" ต้องจ่าย ? หลังผลโพลชี้ประชาชนร้อยละ 89 มองขยะถุงพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐควรจะแก้ไขโดยเร็ว พร้อมหนุนเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถุงพลาสติก

            เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 13.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ทุนสนับสนุนของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการเสวนา ถุงพลาสติก "เรา" ใช้ "ใคร" ต้องจ่าย พร้อมร่วมกันแถลงผลวิจัยมาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดการถุงพลาสติก โดยผลการสำรวจพบว่าคนไทยมีความตระหนักและตื่นตัวเห็นความสำคัญของปัญหาขยะโดยเฉพาะถุงพลาสติก และอยากให้มีการแก้ไขมากขึ้น โดยผลวิจัยพบว่าคนไทยกว่า 50% เห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก เพราะจะช่วยลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติก ทุกภาคส่วนควรปรับตัวรวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการสื่อสารเชิงรุกสร้างความเข้าใจทุกฝ่าย

ถุงพลาสติก เราใช้ ใคร ต้องจ่าย ?

            ทั้งนี้มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมได้แก่ นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,นายสำเร็จ ศรีพงษ์กุล รองผู้จัดการทั่วไปด้านกลยุทธ์ภาพลักษณ์องค์กรบริษัทซีพีออลล์จำกัด(มหาชน) ,นางอัญชลี พิพัฒน์วัฒนากุล ผู้ประสานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดร. ภาวิทย์ เถลิงศรี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการเสวนา

            รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษามาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดการถุงพลาสติกกล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าถุงพลาสติกก่อให้เกิดปัญหามลพิษและปัญหาโลกร้อนนอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วม สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผู้ใช้ถุงพลาสติกที่เป็นผู้ก่อมลพิษกลับไม่ได้แบกรับต้นทุนเนื่องจากมีถุงฟรีแจกจากผู้ขายสินค้า จึงไม่มีแรงจูงใจในการลดการใช้ถุงพลาสติก การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติกจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ใช้ถุงมีแรงจูงใจในการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างมีประสิทธิผล
            ทั้งนี้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2,000 ทั่วประเทศโดยศูนย์วิจัยนิด้าโพลพบว่าร้อยละ 89 ของกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่าขยะถุงพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐควรจะแก้ไขโดยเร็ว ร้อยละ 88 เห็นด้วย ว่าการใช้ถุงพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน และร้อยละ 63 เห็นด้วยว่าประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการแบกรับต้นทุนการจัดการขยะถุงพลาสติก สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ควรนำมาใช้อบว่า ร้อยละ 78 เห็นด้วยกับนโยบายการห้ามใช้ถุงพลาสติกในขณะที่ประชาชนร้อยละ 57 เห็นด้วยกับมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกว่าร้อยละ 60 ว่ามาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างมีประสิทธิผลกว่าการให้คืนเงินสดเมื่อไม่ใช้ถุงหรือการรณรงค์สร้างจิตสำนึก

ถุงพลาสติก เราใช้ ใคร ต้องจ่าย ?

            นอกจากนี้ผลการศึกษามาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดการถุงพลาสติกยังพบว่า หากมีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติกคนไทยอยากให้นำค่าธรรมเนียมที่ได้ไปใช้ในการจัดการกองทุนเพื่อใช้ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้อาจมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตได้รับผลกระทบต่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้ถุงพลาสติกต่อไป

            นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการลดใช้ถุงพลาสติกของประเทศนั้นควรลดการใช้ถุงไซส์เล็ก และมีการผลิตให้มีหนาขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพเหมาะสมสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวสนับสนุนมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกแต่ต้องบูรณาการให้มีมูลค่าจากขยะพลาสติก แต่มาตรการของรัฐที่จะมีมาตรการเก็บภาษีเพิ่มกับผู้ผลิตพลาสติก เพื่อเป็นการลดการใช้นั้น ตนเองมองว่าไม่ช่วยให้การใช้ลดลง แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระให้อุตสาหกรรมพลาสติก และยังส่งผลให้ขีดความสามารถในการต่อสู้ของอุตสาหกรรมพลาสติกลดลง

            ด้านนายสำเร็จ ศรีพงษ์กุล ตัวแทนจากบริษัทซีพีออลล์จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่ถุงพลาสติกแต่เป็นเรื่องของคน ซึ่งที่ผ่านมาทางเซเว่นเองมีแนวคิดลดใช้มาอย่างต่อเนื่อง ในการลดการให้ถุงกับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันประชาชนก็เริ่มเห็นด้วยมากขึ้น ซึ่งทาง CP ก็มีการสนับสนุนการออกกฎหมายควบคุมการใช้ถุงอย่างชัดเจน

            ส่วนนางอัญชลี พิพัฒน์วัฒนากุล ตัวแทนจากกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เชื่อว่าปัจจุบันทุกคนทราบดีอยุ่แล้วว่าปัญหาเกี่ยวกับขยะโดยเฉพาะถุงพลาสติกในบ้านเราว่าเกิดจากอะไร ส่วนตัวมองว่าหากมีนวัตกรรมทางเลือกอื่นทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ก็จะทำให้ปริมาณการใช้ลดลงไปโดยปริยาย ซึ่งจุดนี้จะต้องหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกต่อไป

            ขณะที่ ดร.ภาวิทย์ เถลิงศรี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การลดการใช้ถุงพลาสติกในสังคมนั้นจะต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน ให้ประชาชนมีการปรับตัวลดปริมาณการใช้น้อยลงอย่างเป็นลำดับ โดยขั้นแรกอาจเริ่มที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นอันดับแรก พร้อมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ขณะเดียวกันอาจจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องของภาษีการใช้ถุงพลาสติก เช่นเกี่ยวกับสินค้าประเภทสินค้าบาป ซึ่งการออกกฎหมายบังคับการใช้ถุงนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจถึงสาเหตุและความจำที่ต้องลดใช้ถุงพลาสติกในปัจจุบัน

ถุงพลาสติก เราใช้ ใคร ต้องจ่าย ?

ถุงพลาสติก เราใช้ ใคร ต้องจ่าย ?



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐ-NGO-เอกชน ถกทางออก ถุงพลาสติก เราใช้ ใคร ต้องจ่าย ? โพสต์เมื่อ 16 ธันวาคม 2560 เวลา 11:00:40 2,004 อ่าน
TOP
x close