x close

10 เรื่องเด่นดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2561

ดาราศาสตร์

          ใครชื่นชอบและสนใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ต้องติดตามในปี 2561 ให้ดี เพราะจะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดเผย 10 เรื่องเด่นดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2561 มาให้เราได้ทราบกันดังนี้ 


1. 150 ปี สุริยุปราคาหว้ากอ

ดาราศาสตร์

          18 สิงหาคม 2561 วาระครบรอบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปี ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงถือเป็นวาระสำคัญแห่งการรำลึกถึงปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์


2. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้–ไกลโลกที่สุดในรอบปี

ดาราศาสตร์

          ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก (2 มกราคม) และดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลก (28 กรกฏาคม) จะสังเกตเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่และเล็กกว่าปกติ


3. จันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้งในรอบปี

ดาราศาสตร์

         ในปี 2561 ประเทศไทยสามารถเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงถึง 2 ครั้ง (31 มกราคม และ 28 กรกฎาคม) แต่ละครั้งมีเวลาเกิดคราสเต็มดวงร่วมชั่วโมง
4. ดาวพฤหัสบดี-ดาวเสาร์ใกล้โลก

ดาราศาสตร์

          ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก (9 พฤษภาคม) และดาวเสาร์ใกล้โลก (27 มิถุนายน) ในวันดังกล่าวจะสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏบนท้องฟ้าสุกสว่างยาวนานตลอดทั้งคืนเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์


5. ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 13 ปี


ดาราศาสตร์
 
          ช่วงวันที่ 27-31 กรกฎาคม เหมาะแก่การสังเกตการณ์ดาวอังคารเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยมีสองปรากฏการณ์ ได้แก่ ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (27 กรกฎาคม) และดาวอังคารใกล้โลก (31 กรกฎาคม) ซึ่งเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปีี 2548  หลังจากนี้จะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดและมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดอีกครั้งอีก 17 ปีข้างหน้า ปี 2578
 

6. ฝนดาวตกน่าติดตาม


ดาราศาสตร์

          ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์หรือฝนดาวตกวันแม่ (12-13 สิงหาคม) ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (17-18 พฤศจิกายน) และฝนดาวตกเจมินิดส์ (14-15 ธันวาคม)


7. ความก้าวหน้าโครงการสำรวจระบบสุริยะ

ดาราศาสตร์

          นาซา เตรียมส่งยานสำรวจโครงสร้างภายในดาวอังคาร (Mars InSight Mission) ในเดือน พ.ค. กำหนดถึงในเดือน พ.ย. และ โครงการ Asteroid Explorer "Hayabusa2" โดย JAXA ของญี่ปุ่น ส่งยานฮายาบูสะ 2 สำรวจดาวเคราะห์น้อย 162173 ริวกิว คาดว่าจะลงจอดช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม


8. เตรียมเปิดหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 ของไทย

ดาราศาสตร์

          2 กุมภาพันธ์ 2561 สดร. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ ณ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรสำหรับประชาชน สนับสนุนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน และสถาบันการศึกษา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก


9. โครงการลดมลภาวะทางแสง (Dark Sky Campaign)

ดาราศาสตร์

          สดร. ร่วมกับ กฟผ. และหน่วยงานภาคี เดินหน้าโครงการลดมลภาวะทางแสงที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เพื่อผลักดันให้เป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล รณรงค์เปลี่ยนหลอดไฟชนิดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ (CFL) บริเวณแปลงดอกเบญจมาศ เป็นหลอดไฟชนิดแอลอีดี (LED) จำนวนกว่า 40,000 หลอด เพื่อลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสง สร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชนอย่างเหมาะสมกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และเพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศน์ในเขตพื้นที่ดอยอินทนนท์


10. ก้าวต่อไปของสดร. (NARIT : The Next Step)

ดาราศาสตร์

          ก้าวเข้าสู่เวทีใหม่ในการนำดาราศาสตร์มาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน หันมาให้ความสำคัญในการออกแบบและสร้างอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการวิจัยทางดาราศาสตร์เพื่อยกระดับงานวิจัยและวิศวกรรม สามารถออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูงด้วยตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงการติดตั้งกล้องวิทยุโทรทรรศน์แห่งชาติ อีกหนึ่งโครงสร้างดาราศาสตร์ที่สำคัญของไทยในอนาคต
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เรื่องเด่นดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2561 อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2560 เวลา 15:01:13 18,889 อ่าน
TOP