จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้แชร์เรื่องของเนื้อที่ใช้ในการทำเมนูอาหารของ McDonald อ้างว่าเนื้อดังกล่าวเป็นเศษเนื้อบดผสมรวมกัน โดยผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสารละลายแอมโมเนีย จนสร้างความตระหนกแก่ผู้บริโภคทั่วโลก แถมยังมีการนำเรื่องดังกล่าวมาแชร์ซ้ำต่อกันเรื่อย ๆ นั้น หลายคนคงสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจริงเท็จอย่างไร และผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะปลอดภัยหรือไม่นั้น
จากการตรวจสอบพบว่า เรื่องดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งในข่าวดัง ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นข่าวที่เกิดขึ้นจริง แต่มีข้อมูลบางส่วนที่ถูกนำมากล่าวถึงอย่างผิดพลาด
โดยแท้จริงแล้ว เรื่องราวเริ่มจาก เจมี โอลิเวอร์ เชฟชาวอังกฤษ ซึ่งมาโด่งดังจากการจัดรายการโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลผ่านรายการของเขาว่า เนื้อที่นำมาใช้ในเมนูแฮมเบอร์เกอร์ของทางร้าน McDonald เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากกระบวนการที่เรียกว่า Boneless Beef Trimming (BLBT) หรือ การตัดแต่งเนื้อแบบไร้กระดูก โดยการนำเศษเนื้อและไขมันจากส่วนต่าง ๆ ที่เหลือจากการชำแหละแล้วไปบดรวมกัน จากนั้นล้างฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยสารละลายแอมโมเนีย ก่อนจะถูกนำไปเป็นสารเติมเต็มในผลิตภัณฑ์เนื้อสำเร็จรูป พร้อมทั้งบอกว่า สิ่งนี้ไม่ควรถูกเรียกว่าเนื้อ และตั้งชื่อเรียกว่า "Pink Slime" หรือ "เมือกชมพู"
ภายหลังจากรายการออกอากาศไป ประเด็นดังกล่าวก็กลายเป็นกระแสตื่นตัวในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางผู้ปกครองที่มีความเป็นกังวลต่อความปลอดภัยของบุตรหลาน พร้อมทั้งมีการเรียกร้องให้ทางโรงเรียนยกเลิกการใช้เนื้อบดที่ผลิตด้วยกรรมวิธีดังกล่าว จากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา ทางบริษัท McDonald ได้ออกมาตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าว โดยได้ออกมาชี้แจงว่า ทาง McDonald ได้ทำการยกเลิกการใช้เนื้อสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการใช้สารแอมโมเนีย หรือที่เรียกกันว่า เมือกชมพู ดังกล่าว โดยหลังจากปี 2554 เป็นต้นไป หากมีข่าวลักษณะนี้ออกมาถือว่าไม่ใช่เรื่องจริง
สรุปปัญหาคือ การใช้สารละลายแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เนื้อสำเร็จรูป ของ McDonald เป็นเรื่องจริงในอดีต แต่หลังจากปี 2554 ที่โอลิเวอร์ได้ออกมานำเสนอประเด็นดังกล่าว ทาง McDonald ก็ได้ยกเลิกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ภายหลังจากมีประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นมา ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารละลายแอมโมเนียก็ลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการใช้สารดังกล่าวเพื่อฆ่าเชื้อในกระบวนการผลิตอาหารบางชนิด จากนั้นในเดือนมีนาคม 2555 ทางกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้ระบุว่า ให้ทางโรงเรียนสามารถเลือกได้ว่า จะใช้เนื้อแบบที่มีอยู่ในตลาด หรือประเภทที่ไม่มีสารเติมเต็ม แบบไหนก็ได้ ซึ่งปลอดภัยทั้ง 2 แบบ
ทั้งนี้ นอกจากโอลิเวอร์แล้ว ทางบริษัทยังฟ้องบล็อกเกอร์อาหาร รวมทั้งนักข่าว ABC News เป็นรายคน ที่นำเรื่องราวนี้ไปขยายต่อในลักษณะชี้ให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเรียกค่าเสียหาย 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
สำหรับ สารละลายแอมโมเนีย (Ammonium Hydroxide) เป็นสารแอมโมเนียที่ละลายในน้ำ มักนำไปใช้ในการทำความสะอาด และถูกนำไปใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายในอาหาร โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้จัดให้สารละลายแอมโมเนีย เป็นสารที่ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2517 โดยระบุว่า ความเข้มข้นในระดับปกติของสารละลายแอมโมเนียที่ใช้ในการประกอบอาหาร ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ภาพจาก Sorbis / Shutterstock.com