31 ม.ค. ชวนดู 3 ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" จันทรุปราคาแรกแห่งปี


Super Blue Blood Moon พระจันทร์สีเลือด

          ทั่วโลกเตรียมชม 3 ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ "ซูเปอร์มูน" "บลูมูน" และ "จันทรุปราคาเต็มดวง" เกิดพร้อมกัน วันที่ 31 ม.ค.

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า 31 มกราคม จะเกิด "ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง" ในไทยเห็นได้ด้วยตาเปล่านานกว่าชั่วโมง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.51-21.07 น. สังเกตได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไปทางทิศตะวันออก ตั้งจุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด ได้แก่ เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา และสงขลา เชิญชวนผู้สนใจร่วมชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ พร้อมเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ หวังให้ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งเสริมบรรยากาศสังคมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์แก่คนไทย

          วันที่ 25 มกราคม 2561 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 31 มกราคม จะเกิด "ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง" นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561 พื้นที่ที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศไทยสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 น. เป็นต้นไป

          สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17.51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51-21.07 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที
จันทรุปราคาเต็มดวง 2561

          ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21.07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22.11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23.08 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

          ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยถึงสองครั้งด้วยกัน ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของปี 2561 ซึ่งวันดังกล่าวยังตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม

          ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง

          และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า "จันทรุปราคาบางส่วน" และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า "จันทรุปราคาเต็มดวง" จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์


ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อเทียบกับเงาโลก
ในวันที่ 31 มกราคม 2561

จันทรุปราคาเต็มดวง 2561

ตารางแสดงเวลาการเกิดจันทรุปราคาในวันที่ 31 มกราคม 2561 (ตามเวลาในประเทศไทย)

          - เวลา 17.51 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเงามัว
          - เวลา 18.48 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน
          - เวลา 19.51 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
          - เวลา 20.29 น. กึ่งกลางจันทรุปราคา   
          - เวลา 21.07 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง
          - เวลา 22.11 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน
          - เวลา 23.08 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาเงามัว


          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 4 จุด ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ชวนประชาชนส่องดวงจันทร์สีแดงอิฐผ่านกล้องโทรทรรศน์ พร้อมถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์ผ่านจอภาพขนาดใหญ่ภายในบริเวณงานให้ชมกันอย่างเต็มตา รวมถึงกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่าง ๆ สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เช่น เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน กระจุกดาวลูกไก่ กระจุกดาวคู่ กระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ เป็นต้น เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี !!

จุดสังเกตการณ์หลัก

          1. จ.เชียงใหม่ - ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่  สอบถามเพิ่มเติม โทร. 081-8854353

          2. จ.นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 086-4291489

          3. จ.ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 084-0882264

          4. จ.สงขลา - ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 095-1450411


          นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า กว่า 260 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงในครั้งนี้ด้วย และยังถือเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนต่าง ๆ จะใช้ปรากฏการณ์ครั้งนี้ สร้างงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงได้อีกด้วย โรงเรียนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวกับทางสถาบันได้

          อย่างไรก็ดี นอกจากแวดวงดาราศาสตร์ และผู้สนใจทั่วโลก จะเฝ้ารอดูปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม ยังมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่หาได้ยากที่จะเกิดในวันเดียวกันนี้อีก 2 ปรากฏการณ์คือ บลูมูน และซูเปอร์มูน โดยจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ถูกเรียกว่า Super Blue Blood Moon เป็นการผนวกเข้าด้วยกันระหว่างคำว่า Supermoon, Blue Moon และ Blood Moon

          โดย Supermoon เป็นคำที่เราพบได้บ่อยขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใช้เรียกจันทร์เพ็ญ (หรือจันทร์ดับ) ที่ดวงจันทร์มีตำแหน่งอยู่บริเวณจุดใกล้โลกที่สุดในวงโคจรซึ่งเป็นวงรีรอบโลก ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยราว 7% และใหญ่กว่าเมื่ออยู่บริเวณจุดไกลโลกที่สุดราว 14% อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ผิดปกติเมื่อดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าโดยไม่จำเป็นต้องเป็นวันที่เกิดซูเปอร์มูน ภาพลวงตานี้เกิดจากมีสิ่งต่าง ๆ ที่ขอบฟ้ามาเทียบเคียงกับดวงจันทร์

          Blue Moon โดยทั่วไปไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน แต่ใช้เรียกจันทร์เพ็ญครั้งที่ 2 ของเดือนในปฏิทิน ความหมายเดิมของคำนี้ใช้กับจันทร์เพ็ญครั้งที่ 3 ของฤดูที่มีจันทร์เพ็ญ 4 ครั้ง เช่น ฤดูใบไม้ผลิใน พ.ศ. 2559 มีจันทร์เพ็ญ 4 ครั้ง ได้แก่ 23 มีนาคม, 22 เมษายน, 22 พฤษภาคม และ 20 มิถุนายน ซึ่งก็คือจันทร์เพ็ญครั้งแรกอยู่ต้นฤดู และครั้งสุดท้ายอยู่ปลายฤดู จันทร์เพ็ญครั้งที่ 3 (22 พฤษภาคม) เรียกว่า บลูมูน ตามนิยามดั้งเดิม

          ส่วนที่มาของคำว่า Blue มีคำอธิบายว่านำมาใช้แทนคำว่า Belewe ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษเก่า มีสองความหมาย คือ สีน้ำเงินและการทรยศ บลูมูนจึงเป็นจันทร์เพ็ญครั้งที่ 13 ในปีหนึ่งซึ่งควรมีจันทร์เพ็ญแค่ 12 ครั้ง

          Blood moon บางคนใช้เรียกจันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งดวงจันทร์เป็นสีแดงคล้ายสีเลือดขณะถูกเงามืดของโลกบังหมดทั้งดวง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย

**หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 15.43 น. ของวันที่ 30 มกราคม 2561

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
31 ม.ค. ชวนดู 3 ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" จันทรุปราคาแรกแห่งปี อัปเดตล่าสุด 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 14:03:33 15,988 อ่าน
TOP
x close