x close

ย้อนรอยล่าสัตว์ ทุ่งใหญ่นเรศวร 2516 ชนวนเหตุประท้วง 14 ตุลาฯ





           กลายเป็นข่าวฮือฮาท้ากฎหมาย เมื่อนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ที่ได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างของรัฐบาลบ่อยครั้ง ถูกจับหลังตั้งแคมป์ล่าสัตว์ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร โดยพบหลักฐานอาวุธล่าสัตว์ รวมถึงซากเก้ง เสือดำ ถูกถลกหนัง ทำให้หลายคนจับตาว่าคดีนี้จะหลุดหรือไม่ เพราะคนที่ถูกจับนั้นเป็นคนใหญ่คนโตระดับประเทศ (อ่านข่าว : จับประธานอิตาเลียนไทย ล่าสัตว์พื้นที่อนุรักษ์ทุ่งใหญ่ ซากของกลางอื้อ)

           จากข่าวดังกล่าวทำให้ชวนนึกถึงเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย อันเกี่ยวกับผืนป่าดังกล่าว นั่นคือ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในปี 2516 ที่ จ.นครปฐม หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ "กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร" จนกลายเป็นชนวนของการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

           ย้อนกลับไปในช่วงเดือนเมษายน 2516 มีกระแสข่าวว่า พันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้นำคณะตำรวจ-ทหารชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้านักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกว่า 60 คน รวมถึงนักแสดงชื่อดัง เมตตา รุ่งรัตน์ เข้าไปจัดงานเลี้ยงวันเกิด รวมถึงได้ใช้อาวุธสงครามจำนวนมากล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ถึงแม้จะมีการประท้วงแสดงความไม่พอใจในการล่าสัตว์ป่า จากนิสิต นักศึกษา ประชาชน รวมไปถึงองค์กรคุ้มครองสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีหลักฐานพอที่จะเอาผิดกับคณะดังกล่าวได้

           แต่แล้วในวันที่ 29 เมษายน 2516 ได้เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก ที่บางเลน จ.นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บอีก 4 คน พร้อมปรากฏซากกระทิง และสัตว์ป่าอื่น ๆ รวมถึงอุปกรณ์ล่าสัตว์จำนวนมากกระจัดกระจายรอบซากเฮลิคอปเตอร์ ภาพดังกล่าวกลายเป็นพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทันที พร้อมกับมีการตีพิมพ์ภาพเปรียบเทียบว่าเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวเพิ่งขึ้นจากเขตทุ่งใหญ่จริง ทำให้อุบัติเหตุในครั้งนั้นกลายเป็นหลักฐานฟ้องว่า มีการใช้เฮลิคอปเตอร์หลวงเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

           ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานการล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลกลับมีการกดดันให้สื่อมวลชนยุติการเผยแพร่ภาพหลักฐานการกระทำผิดเหล่านี้ และจอมพล ถนอม ได้แถลงข่าวว่า ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกอยู่ในช่วงปฏิบัติการลับของราชการเปิดเผยมิได้ และเฮลิคอปเตอร์ถูกใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัย นายพล เน วิน นายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ส่วนเนื้อสัตว์ป่าอาจเป็นของคนอื่นฝากมา ทำให้กระแสสังคมไม่พอใจต่อรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนั้นมีข้อมูลว่า ผู้มีส่วนในเหตุนี้นอกจาก พันเอก ณรงค์ ยังมีหัวหน้าคณะล่าสัตว์ คือ พันโท สุภัทร สารสิน บุตรชายนายพจน์ สารสิน และนายทหารคนสนิทของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ด้วย



           เรื่องราวบานปลายขึ้นเมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. จัดอภิปรายเรื่องนี้ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ร่วมฟังนับหมื่นคน และมีการตีพิมพ์หนังสือ "บันทึกลับทุ่งใหญ่" เพื่อเปิดโปงการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างอุกอาจ โดยหน้าปกเป็นรูปช้างที่ตาย มีใบบัวเล็ก ๆ ปิดอยู่ พร้อมป้าย "ราชการลับที่เปิดเผยไม่ได้" หลังจากนั้นก็ได้มีการตีพิมพ์หนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ของชมรมคนรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง วิจารณ์รัฐบาลและมหาวิทยาลัย รวมถึงเสียดสีกรณีทุ่งใหญ่ฯ 

           จากหนังสือดังกล่าว ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ในข้อหาเสียดสีรัฐบาล ส่งผลให้กระแสสังคมยิ่งต่อต้านรัฐบาลจอมพล ถนอม หนักขึ้น บานปลายกลายเป็นการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ ที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วยการที่นักศึกษาถูกปราบปรามเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมากในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่วนจอมพล ถนอม, จอมพล ประภาส และพันเอก ณรงค์ ลี้ภัยออกนอกประเทศ


           ผืนป่าแห่งนี้นอกจากสะท้อนเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ยังเป็นที่หมายปองของเหล่ามนุษย์นักล่า โดยเฉพาะ เสือดำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย และเข้าข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเรื่องราวของเสือดำในประเทศไทย เคยเป็นข่าวฮือฮาเมื่อราว พ.ศ. 2521 เมื่อปรากฏข่าวว่า มีเสือดำตัวหนึ่งเพ่นพ่านอยู่แถวมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร จนเป็นที่หวาดกลัวของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จนได้ชื่อว่า "เสือดำมักกะสัน" แต่อีก 2 ปีต่อมาก็ปรากฏว่า เป็นเสือดำที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ซื้อมาในราคา 3,000 บาท และนำมาปล่อยไว้เอง เพื่อผลทางจิตวิทยา ก่อนจะจับไปปล่อยไว้ในป่าห้วยขาแข้ง

           และอีกหลาย ๆ ปีต่อมา ก็มีข่าวการพบเสือดำและเสือดาวในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2559 และถัดมาในปี พ.ศ. 2560 ก็ได้พบเสือดาวอีกตัวในป่าอุ้มผาง จ.ตาก ถือว่าสะท้อนถึงความสมบูรณ์ของป่าไม้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่หลอกล่อกลุ่มนายทุนที่หื่นกระหายต่อการเป็นนักล่าบนห่วงโซ่อาหารได้ 





ภาพและข้อมูลจาก amarintv, เฟซบุ๊ก คนอนุรักษ์

ข้อมูลจาก
,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยล่าสัตว์ ทุ่งใหญ่นเรศวร 2516 ชนวนเหตุประท้วง 14 ตุลาฯ อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 18:47:07 41,312 อ่าน
TOP