ในปัจจุบันมีการนำพลาสติกมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นและถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยด้วยปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) โดยการใช้มาตรการลดหรือเลิกใช้พลาสติกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงพลาสติก พลาสติกหุ้มขวดน้ำดื่ม หรืออื่น ๆ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มประมาณ 2,600 ล้านขวดต่อปี หรือร้อยละ 60 ซึ่งพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บ ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (No Plastic Bottle Cap Seal) ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สถาบันพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 อาคารกรมควบคุมมลพิษ
จุดประสงค์ของการขับเคลื่อนลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการช่วยกันลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มในอุตสาหกรรมน้ำดื่มไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ และนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ด้วย