Thailand Web Stat

อย. ยันปลาดิบฟุกุชิมะผ่านการตรวจเข้ม วางใจได้ ลั่นไทยไม่กีดกันสินค้าญี่ปุ่น





           อย. แจงนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ ชี้ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดแล้ว ขอผู้บริโภควางใจปลอดภัย เผยมีการนำเข้าปลามาจากญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2559 ย้ำไม่พบสารกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์

           จากกรณีสื่อญี่ปุ่นรายงานข่าวว่า ประเทศไทยเป็นชาติแรกที่นำเข้าปลาจาก จ.ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น หลังเกิดภัยพิบัติรุนแรงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เมื่อปี 2554 จนทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ อย. ตรวจสอบว่าปลาที่นำเข้ามายังมีสารกัมมันตรังสีตกค้างอยู่หรือไม่นั้น (อ่านข่าว : ไทยชาติแรกนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ หลังเกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด)
ปลาจากฟุกุชิมะ
ภาพจาก ​TORU YAMANAKA / AFP 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (6 มีนาคม 2561) นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง และนายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า จากกรณีข่าวที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นชาติแรกที่มีการนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นนั้น ขอยืนยันว่าก่อนจะนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อตรวจสอบเรื่องปริมาณสารกัมมันตรังสีในอาหารตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง ซึ่งมีการตรวจและเฝ้าระวังทั้งในประเทศไทยเอง และต้นทาง คือ ประเทศญี่ปุ่น

           โดยพบว่าสินค้าประมงที่ผ่านเข้ามาตั้งแต่ปี 2554 ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมตรังสีเกินค่ามาตรฐานแต่อย่างใด อีกทั้งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้มีการสุ่มตรวจสารกัมตรังสีในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนทั้งในและต่างประเทศ ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2559 ก็ไม่พบการปนเปื้อนของสารซีเซียม 137 เช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร 3 ชนิด คือ ไอโอดีน 131 จะต้องไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกก. ซีเซียม 137 และซีเซียม 134 รวมกัน ไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกก.


           อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยไม่เคยกีดกันสินค้าประมงจากญี่ปุ่น ส่วนเรื่องไทยนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะเป็นชาติแรกหรือไม่นั้น ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะไทยนำเข้าปลาจากเมืองฟุกูุชิมะมานานแล้ว โดยไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2559 และยืนยันว่ามีการตรวจสอบจากด่านกรมศุลกากร และ อย. ทุกครั้งว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เกินสินค้าเหล่านั้นก็สามารถนำเข้ามาได้

           นายแพทย์วันชัย ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ยกเลิกขอเอกสารยืนยันจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็มีอีกหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นอาหารสดที่นำเข้ามา เนื่องจากมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่อาหารสดจากญี่ปุ่นเท่านั้นแต่เป็นอาหารสดจากทั่วโลก พร้อมขอให้สื่อมวลชนกระจายข่าวไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกมากเกินไป

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก JS100 Radio

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย. ยันปลาดิบฟุกุชิมะผ่านการตรวจเข้ม วางใจได้ ลั่นไทยไม่กีดกันสินค้าญี่ปุ่น อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2561 เวลา 18:32:48 3,556 อ่าน
TOP
x close