เจ้าของบ้านเผย สคบ. ตรวจแล้ว บ้านไม่โทรมตามข่าว ชี้ ราคาสูงเพราะเอเจนซี่

ลูกค้าโวย

          เปิดใจหนุ่มโพสต์แฉ บ้านพักหัวหินไม่ตรงปก ด้านเจ้าของบ้านโต้ สคบ. ลงตรวจสอบ โครงสร้างยังดีไม่โทรมตามที่แชร์ ชี้เรื่องราคาที่สูงอาจเพราะติดต่อผ่านเอเจนซี่ ยันตั้งราคาตามสภาพ

          จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ที่ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความเตือนอุทาหรณ์ หลังจองบ้านพักที่หัวหิน หวังจะเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัว แต่กลับได้บ้านพักที่ไม่เป็นตามที่ใจหวัง สถานที่จริงไม่เหมือนกับรูปภาพที่โพสต์ลงหน้าเพจเฟซบุ๊ก ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น (อ่านข่าว : หนุ่มแชร์ทริปพินาศ จ่าย 12,000 นอนบ้านพักหัวหิน แต่สิ่งที่ได้...ทำสวรรค์พังต่อหน้า)
ลูกค้าโวย

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 พฤษภาคม 2561 รายการทุบโต๊ะข่าว ทางช่อง Amarin TV รายงานบทสัมภาษณ์ คุณเอ (นามสมมุติ) เจ้าของโพสต์ เปิดเผยว่า บ้านพักดังกล่าว ตนจองผ่านเอเจนซี่ ซึ่งติดต่อกันผ่านทางไลน์ มีการส่งข้อมูลและรูปภาพที่พักผ่านทางช่องทางนี้ รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายและค่ามัดจำด้วย โดยค่าใช้จ่ายตกลงกันอยู่ที่ 9,000 บาท 3 วัน 2 คืน ตนได้จ่ายมัดจำไปแล้ว 5,400 บาท และจะต้องมาจ่ายวันเข้าพักอีกที่เหลือ 3,600 บาท และบวกค่าเสียหายอีก 3,000 บาท รวมทั้งสิ้น 12,000 บาท แต่เมื่อถึงวันเข้าพัก กลับพบว่าบ้านไม่ตรงกับรูปภาพในเพจ ตนจึงต้องการเปลี่ยนที่ แต่ด้วยมาถึงก็เย็นแล้ว ประกอบกับฝนตก และคนในครอบครัวก็มีทั้งเด็กและคนแก่ ตนจึงขอต่อรองเข้าพัก แต่ต้องลดราคาเหลือแค่ 4,000 บาท

          ทั้งนี้ ทางเจ้าของกลับไม่ยอม ยืนยันว่าลดได้ แต่ต้องจ่าย 4,500 บาท ตนจึงจำใจยอมจ่าย ซึ่งภายในบ้านพักก็เป็นไปตามที่โพสต์รูป ราวตากผ้าในห้องน้ำเป็นเชือกฟางติดผนัง ห้องครัวมีคราบสกปรก สระว่ายน้ำมีไฟหลุดออกมา รวมถึงมีสัตว์มีพิษรายรอบบ้าน พี่ชายถูกแตนต่อยด้วย จนตอนเช้าก็รีบโทร. เพื่อขอเงินคืนทั้งค่าห้องที่ลดและค่าประกัน รวม 7,500 บาท ผ่านทางเอเจนซี่ เพราะติดต่อเจ้าของบ้านไม่ได้ ตนต้องคุยผ่านเอเจนซี่ตลอด ซึ่งทางเจ้าของบ้านได้ฝากบอกมายังตนว่า เขามีหน้าที่รับส่วนแบ่ง 5,000 บาท จากเอเจนซี่เท่านั้น คล้ายกับโยนความผิดให้ทางเอเจนซี่ผู้เดียว จนตนต้องบอกว่าถ้าไม่โอนเงินคืนภายใน 10 นาที จะแจ้งความ เจ้าของบ้านถึงโอนให้ เพราะตอนแรกพยายามเฉไฉ

ลูกค้าโวย

          ขณะเดียวกัน นายจุลยุทธ ครุฑธา อายุ 45 ปี ผู้เสียหายที่เคยเข้าพักบ้านหลังดังกล่าว เผยว่า ตนเข้าพักในวันที่ 12-13 เมษายน ที่ผ่านมา จากเดิมราคา 9,000 บาท แต่ได้ลดราคาเหลือ 4,500 บาท เพราะอ้างว่าเหลือหลังสุดท้าย ตนก็ตกลงเพราะเห็นว่าราคาถูก จนเมื่อวันเข้าพักก็พบว่าบ้านเก่ากว่าภาพที่ลงในเพจ จะสอบถามกับคนดูแลบ้านก็ไม่ได้ เพราะมาเปิดประตูให้แล้วก็รีบออกไปเลย ตนก็อยากจะได้เงินคืน และอยากให้เจ้าของบ้านซื่อสัตย์ ไม่หลอกลวงผู้อื่น ส่วนเรื่องจะร้อง สคบ. ตนก็อยากร้อง เพราะอยากจะให้หน่วยงานเข้าตรวจสอบ

ลูกค้าโวย

          ด้าน คุณเอมี่ เจ้าของบ้านพัก เปิดเผยว่า หลังเรื่องราวถูกแชร์ออกไป ก็มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลและเจ้าหน้าที่ สคบ. ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านพักหลังดังกล่าวแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าโครงสร้างของบ้านยังแข็งแรงดี และสภาพไม่ได้แย่อย่างที่เป็นข่าว ตนไม่ทราบราคาที่เอเจนซี่ตกลงกับลูกค้าว่าเท่าไร แต่ตนแจ้งราคาบ้านพักที่ 5,000 บาท เป็นบ้านเดี่ยว 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ อีกทั้งทางลูกค้าก็ไม่ได้แจ้งจำนวนที่เข้าพักว่ามีถึง 16 คน เพราะที่จริงแล้วบ้านพักรองรับคนได้เต็มที่ 12 คนเท่านั้น วันที่มาพัก ลูกค้าก็ขอเปลี่ยน ตนก็ยินดีหาให้ แต่เขากลับเปลี่ยนใจเพราะเห็นว่ามืดแล้ว และได้ต่อรองราคาลงจะจ่ายแค่ 4,000 บาท ตนก็บอกไปว่าไม่ได้ ลดได้แค่เหลือ 4,500 บาท เพราะบ้านพักก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน ทั้งค่าน้ำ-ไฟ แอร์ 3 เครื่อง รวมถึงค่าแม่บ้านด้วย

          คุณเอมี่ กล่าวต่อว่า ถ้าตนเป็นผู้ขายที่พักเองก็คงกำหนดราคาตามสภาพ แต่ครั้งนี้เป็นการติดต่อผ่านเอเจนซี่จึงอาจทำให้ราคาแพงไม่สมกับสภาพบ้าน ตนก็ยอมรับว่าบ้านเปิดมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่บ้านใหม่ อาจไม่สวยอย่างในเพจ แต่ยืนยันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกครบตามที่โพสต์ และหลังจากที่ลูกค้าออกไป ตนก็มีการส่งข้อความขอโทษ และรับปากว่าถ้ามาอีกครั้งหน้าจะลดราคาให้พิเศษ แต่กลับถูกลูกค้าถ่ายรูปที่เจาะจงบางจุดไปแชร์ ซึ่งตนก็มีติดต่อทนายไว้แล้วเพื่อรองรับ เพราะไม่รู้ว่าลูกค้าจะเอาเรื่องตนหรือไม่

ลูกค้าโวย

          อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เปิดเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นคงต้องดูพฤติการณ์ของเจ้าของบ้านพักก่อนว่ามีเจตนาในการปรับแต่งรูปของห้องพักหรือไม่ หรือเขาให้บริการแบบนั้นจริง แต่ผู้บริโภคเข้าไปถึงแล้ว ข้อมูลที่เสนอไม่ตรงกับภาพในอินเทอร์เน็ต แล้วลูกค้าขอเงินค่าบริการคืน ถ้าเจ้าของบ้านเช่าไม่ให้คืนก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุ 1 ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่คอมพิวเตอร์โดยประการใดที่ผู้คนเข้าถึงได้ ซึ่งในมาตรานี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือเป็นคดีอาญายอมความไม่ได้

          สำหรับผู้เสียหายสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ แจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่ได้มีการโอนเงินการมัดจำครั้งแรกว่าบัญชีที่โอนอยู่ในพื้นที่ไหน และร้องเรียนต่อ สคบ. ในข้อหานำเสนอข้อมูลเท็จได้



ภาพและข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ้าของบ้านเผย สคบ. ตรวจแล้ว บ้านไม่โทรมตามข่าว ชี้ ราคาสูงเพราะเอเจนซี่ อัปเดตล่าสุด 4 พฤษภาคม 2561 เวลา 14:39:04 37,484 อ่าน
TOP
x close