วันนี้ในอดีต 7 พฤษภาคม 2419 ร.5 ทรงวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

              ย้อนดูวันนี้ในอดีต 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท...พระวิมานที่สถิตแห่งพระบรมอัฐิ

              พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง เมื่อ พ.ศ. 2419 ภายหลังเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดเกล้าฯ ให้จ้างสถาปนิกชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ชื่อ มิสเตอร์ ยอน คลูนิช เป็นนายช่างออกแบบ นายเฮนรี คลูนิช โรส เป็นนายช่างผู้ช่วย โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กองผู้ควบคุมการก่อสร้าง พระยาเวียงในนฤบาล เป็นผู้กำกับดูแลการทุกอย่าง และพระประดิษฐการภักดี เป็นผู้ตรวจกำกับบัญชี

วางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
              สำหรับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้นตั้งอยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรกับพระมหาปราสาท ประกอบด้วย ปราสาท 3 องค์ ทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสันโดยตลอด โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419

              เดิมมีพระที่นั่งต่าง ๆ เรียงต่อเนื่องกันรวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ (พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัตินั้นชำรุดทรุดโทรมมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รื้อลง และสร้างองค์ใหม่ขึ้นแทน)

              เริ่มแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เป็นแบบตะวันตก แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นปราสาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนทรงหลังคาเป็นหลังคายอดปราสาท 3 ยอดเรียงกันตามสถาปัตยกรรมไทย และเสด็จยกยอดปราสาทใน พ.ศ. 2421 มีการเฉลิมพระราชมนเทียรใน พ.ศ. 2425 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" โดยเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้น องค์พระที่นั่งเป็นอาคารรูปตัว T

วางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

              ในส่วนองค์พระที่นั่งด้านหน้าที่มีหลังคาเป็นยอดปราสาทเป็นพระที่นั่งองค์ประธาน องค์กลางเรียก "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง" องค์ริม 2 ข้างเรียก "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออก" และ "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก" ตามทิศทางที่ตั้ง โดยมุขกระสันที่ต่อเนื่องระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลางกับองค์ตะวันออก เรียกว่า มุขกระสันด้านตะวันออก ส่วนมุขกระสันที่ต่อเนื่องระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลางกับองค์ตะวันตก เรียกว่า มุขกระสันด้านตะวันตก ตามทิศทางเช่นกัน

              พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์ตะวันออก บริเวณชั้นบนประดิษฐานปูชนียวัตถุของพระมหากษัตริย์ อาทิ พระพุทธรูปสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนชั้นกลางเป็นห้องรับแขก สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า ห้องไปรเวต ด้านตะวันออก โดยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ประทับ ณ พระราชมณเฑียรหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้จะเสด็จออกรับแขกที่มิได้เฝ้าฯ เป็นทางราชการ ณ ห้องนี้ ปัจจุบันใช้เป็นห้องรับรองพระราชอาคันตุกะชั้นสมเด็จพระราชาธิบดี และพระราชวงศ์ หรือพระราชอาคันตุกะชั้นประมุขของประเทศ ในโอกาสที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยงรับรอง ทั้งนี้ ภายในประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชโอรส 5 พระองค์ ขณะที่ชั้นล่าง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นห้องสำหรับราชองครักษ์ ปัจจุบันใช้เป็นห้องรับแขก

              ส่วนองค์ตะวันตก บริเวณชั้นบนเป็นหอประดิษฐานพระอัฐิพระมเหสีและพระบรมราชวงศ์ ชั้นกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นออฟฟิศหลวง ต่อมาครั้งสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องนี้เป็นห้องเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ส่วนในปัจจุบันใช้เป็นห้องรับแขก เป็นสถานที่รอเข้าเฝ้าฯ ของพระราชอาคันตุกะ ภายในที่ส่วนผนังนั้นประดับพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ส่วนบริเวณ ชั้นล่าง ใช้เป็นห้องสมุด

วางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

              มุขกระสันด้านตะวันออก ชั้นบนเป็นเฉลียงทางเดินระหว่างหอพระบรมอัฐิบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลางกับหอประดิษฐานปูชนียวัตถุบนพระที่นั่งฯ องค์ตะวันออก บริเวณชั้นกลางเป็นห้องรับรองแขก ภายในประดับพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 7 และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่มุขกระสันด้านตะวันออกบริเวณชั้นล่าง เป็นห้องโถง ส่วนมุขกระสันด้านตะวันตก บริเวณชั้นบนเป็นเฉลียงทางเดินระหว่างหอพระบรมอัฐิบนพระที่นั่งฯ องค์กลางกับหอพระอัฐิบนพระที่นั่งฯ องค์ตะวันตก ชั้นกลางเป็นห้องโถงรับรองแขก ผนังประดับพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า 6 พระองค์ และชั้นล่างเป็นห้องโถง

              สำหรับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง ชั้นล่างเป็นที่ตั้งกองรักษาการณ์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ชั้นกลางเป็นท้องพระโรงหน้า ลักษณะเป็นห้องโถง ผนังประดับพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ตามขัตติยราชประเพณี

              โดยท้องพระโรงนี้ เป็นทางผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ ของพระที่นั่ง ด้านใต้เป็นทางเข้าสู่ท้องพระโรงกลาง เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระราชสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูต หรือถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสต่าง ๆ

              นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับประกอบการพระราชพิธีการพระราชกุศล หรือพระราชกรณียกิจอื่นตามควรแก่โอกาส ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระที่นั่งพุดตานถม" ซึ่งเป็น "พระราชอาสน์ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" ทำด้วยไม้หุ้มเงินถมลงยาทาทอง เรียกว่า ถมตะทอง นับได้ว่าเป็นเครื่องถมทองชิ้นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนด้านเหนือมีทางออกสู่มุขหน้า มีชานสีหบัญชรสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ในบางโอกาส

              องค์ประกอบสำคัญยิ่งอีกส่วนหนึ่งของพระที่นั่งองค์กลางคือ "หอเก็บพระบรมอัฐิ" หรือ "พระวิมาน" โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ณ บริเวณชั้นบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4

วางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

              ซึ่งต่อมายังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวริน ทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมถึง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

              อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รวมถึง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

              และในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ประดิษฐาน ณ พระวิมาน ชั้นบนพระที่นังจักรีมหาปราสาทองค์กลาง

              สำหรับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอื่น ๆ เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ "ฝรั่งสวมชฎา" ซึ่งในปัจจุบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กลายเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดสำคัญที่สุดของพระบรมมหาราชวัง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ข้อมูลจาก
, , เฟซบุ๊ก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันนี้ในอดีต 7 พฤษภาคม 2419 ร.5 ทรงวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2561 เวลา 12:58:17 16,413 อ่าน
TOP
x close