ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านแล้ว ! 10 ความสุขสู่ผืนป่าและประชาชนมีอะไรบ้าง

          ...ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้มากถึง 171 ล้านไร่ แต่ ณ วันนี้ เราเหลือพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ราว ๆ 102.4 ล้านไร่เท่านั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผืนป่าลดลงอย่างน่าใจหาย มาจากการบุกรุกทำลายป่า เพื่อขยายเมือง ขยายพื้นที่การเกษตร การถางป่าทำรีสอร์ท อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ...

          แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้มงวดกวดขันในการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่ามากขึ้นเพื่อรักษาป่าไม้ให้คงอยู่ เราจึงเห็นข่าวจับกุมผู้กระทำผิดคดีตัดไม้ คดีสัตว์ป่า คดีบุกรุกพื้นที่ป่าหลายหมื่นคดี
ป่าชุมชน

          ขณะเดียวกันรัฐบาล พร้อมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เล็งเห็นว่า การออกกฎหมายเพื่อปกป้องและปฏิรูปป่าไม้เป็นเรื่องสำคัญ จึงพยายามผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ หนึ่งในนั้นก็คือ "กฎหมายป่าชุมชน" ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การให้คนอยู่ร่วมกับป่าและบริหารจัดการพื้นที่ป่าไปด้วยกัน เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน

          และหลังจากภาคประชาชนเรียกร้องและรอคอยกฎหมายป่าชุมชนมานานกว่า 2 ทศวรรษ ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าชุมชน พ.ศ.... เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกันดูแลผืนป่าและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ร่วมกันอนุรักษ์ได้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงและเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ


          หลายคนอาจสงสัยว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้มีความพิเศษกว่ากฎหมายฉบับเดิมอย่างไร เราจะได้รับประโยชน์อะไรจาก พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้ กระปุกดอทคอม ขอแจกแจงให้ทุกคนได้เข้าใจกัน

1. คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้


          จากเดิมภาครัฐเป็นกำลังหลักในการดูแลป่าบริเวณใกล้เคียงชุมชน แต่สำหรับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้ จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเพื่อการอนุรักษ์ และส่วนเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ จะเน้นให้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ป่าเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าในพื้นที่ได้มากขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้ดำเนินการอะไร ๆ ได้คล่องตัวขึ้น และเป็นไปตามความต้องการของชุมชนจริง ๆ ซึ่งเมื่อเกิดความร่วมมือกัน ชุมชนนั้นก็มีความเข้มแข็ง สามัคคี เกิดความสำนึกรักบ้านเกิด ผลักดันให้แรงงานคืนถิ่นกลับไปพัฒนาบ้านเกิด  
 
2. เป็นซูเปอร์มาร์เกตของหมู่บ้าน

ป่าชุมชน

          ป่าชุมชนเปรียบเหมือน "ซูเปอร์มาร์เกตของหมู่บ้าน" ที่จะช่วยลดรายจ่าย และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้น เพราะชาวบ้านสามารถปลูกต้นไม้ ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน แล้วเก็บพืชผักสมุนไพร ของป่า ออกมาใช้สอยในครัวเรือนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับกุมเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้
 
3. เก็บของป่าไปขาย ภายใต้กติกาชุมชนและกฎหมาย สร้างรายได้ให้ชุมชน

ป่าชุมชน

          นอกจากชาวบ้านจะสามารถเก็บของป่าออกมาไว้ใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถนำผลผลิตจากป่าไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้าได้อีก เช่น เก็บเห็ดไปขาย นำสมุนไพรจากป่ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน ต่อยอดพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน ส่งขาย สร้างรายได้ให้ชุมชนได้อีกทาง โดยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและกติกาที่ชุมชนตกลงร่วมกัน
 
4. ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในป่า

ป่าชุมชน

          จากเดิมที่ชาวบ้านต้องขออนุญาตทางการหากจะนำแหล่งน้ำในป่ามาใช้ประโยชน์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะเอื้ออำนวยให้ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ดูแลป่าชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งน้ำ และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้ ก็จะช่วยให้ชาวบ้านมีทรัพยากรในการประกอบอาชีพ เช่น ทำเกษตร ทำประมง ฯลฯ เลี้ยงดูครอบครัวและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
 
5. เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

ป่าชุมชน

          เมื่อเกิดการอนุรักษ์ก็สามารถพัฒนาป่าชุมชนให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้คนทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยวเข้ามาซึมซับสัมผัสกลิ่นอายของป่า โดยชาวบ้านสามารถดำเนินการได้เองตามแผนบริหารจัดการที่ตกลงร่วมกัน เป็นการกระจายรายได้ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน แล้วคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจะดียิ่งขึ้น
 
6. เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ

ป่าชุมชน

          เมื่อให้ชาวบ้านเข้าไปดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ชาวบ้านก็จะช่วยกันปลูกป่า จัดการ ป้องกัน อนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย พื้นที่สีเขียวของประเทศก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่
 
7. สัตว์น้อยใหญ่ได้พึ่งพิง

ป่าชุมชน

          ป่าไม้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ หากเราช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะทำให้ระบบนิเวศสมดุล และเกิดความหลากหลายทางชีวภาพตามมา
 
8. แก้ภัยแล้ง

ป่าชุมชน

          นอกจากป่าจะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ป่าไม้ยังช่วยให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล เติมน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ ทั้งให้ชาวนาชาวไร่ใช้เพาะปลูก ทำการเกษตร และให้เราทุกคนมีผลผลิตจากการเกษตรและมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
 
9. ป้องกันน้ำท่วมรุนแรง


ป่าชุมชน

          ภัยธรรมชาติที่เมืองไทยประสบพบเจอทุกปีคือปัญหาน้ำท่วม และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ป่าไม้ถูกตัดทำลายไปมาก แต่ป่าชุมชนจะช่วยเพิ่มจำนวนต้นไม้มาช่วยดูดซับน้ำไว้ในผืนดิน จึงชะลอความรุนแรงของน้ำท่วมและลดการพังทลายของหน้าดิน พร้อมกับป้องกันเหตุดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก
 
10. ลดภาวะโลกร้อน

ป่าชุมชน

          การปลูกป่าใหม่และอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่าเดิมตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน จะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนของโลกได้ เพราะต้นไม้จะคายก๊าซออกซิเจน และปล่อยไอน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันก็ช่วยดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ต้นไม้จึงช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์และลดความร้อนให้เราสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างสบาย
 
          จะเห็นได้ว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่จะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งมีค่าที่ธรรมชาติสรรค์สร้างไว้ และใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

          สำหรับโครงการ "ป่าชุมชน" นี้ มีการตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนใน 21,850 หมู่บ้าน พื้นที่ 19.1 ล้านไร่ โดยขณะนี้ ประกาศพื้นที่ป่าชุมชนไปแล้วตามกฎหมายเก่า 10,795 หมู่บ้าน พื้นที่ 5.98 ล้านไร่ ซึ่งหากทำได้สำเร็จเสร็จสิ้นทุกพื้นที่ ก็จะทำให้พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ขณะที่ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนที่พวกเขาดูแล

พ.ร.บ.ป่าชุมชน


          และสำหรับใครที่สนใจอยากทราบรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายป่าชุมชนเพิ่มเติม สามารถคลิกอ่านร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.... ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ กรมป่าไม้ รวมถึงข้อมูลข่าวสารอัปเดตแบบทางการจากเว็บไซต์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ที่นี่เลยค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านแล้ว ! 10 ความสุขสู่ผืนป่าและประชาชนมีอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2561 เวลา 10:28:40 42,957 อ่าน
TOP
x close