x close

เปิดประวัติ อดีตพระพรหมเมธี หนีคดีทุจริตเงินทอนวัด ก่อนโดนรวบที่เยอรมนี

 

              ประวัติ อดีตพระพรหมเมธี อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม มีชื่อเอี่ยวคดีทุจริตเงินทอนวัด หลบหนี 4 ประเทศ ก่อนถูกรวบตัวที่ประเทศเยอรมนี




ทุจริตเงินทอนวัด อดีตพระพรหมเมธี

             กรณีข่าวทุจริตเงินทอนวัด นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการผ้าเหลืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีพระเถระผู้ใหญ่ 5 รูป จากวัดดังถูกออกหมายจับ หนึ่งในนั้นคือ อดีตพระพรหมเมธี อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร ที่ก่อนหน้านี้อยู่ระหว่างการหลบหนีโดยมีการเคลื่อนไหวเริ่มจาก สปป.ลาว ก่อนจะเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ เพื่อนั่งเครื่องบินไปเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ก่อนจะเดินทางไปที่ประเทศกาตาร์ และต่อเครื่องไปประเทศเยอรมนี อันเป็นจุดที่ถูกจับกุมได้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2561 [อ่านข่าว : เผยภาพลับ นาทีอดีตพระพรหมเมธี เผ่นจาก สปป.ลาว ก่อนไปจนมุมที่เยอรมนี]

             สำหรับ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) นั้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 4 - 5 - 6 - 7 (ธรรมยุต) รวมถึงเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

             พระพรหมเมธี มีชื่อเดิมว่า จำนงค์ เอี่ยมอินทรา เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2484 ในบ้านริมน้ำนครชัยศรี ปากคลองบางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม บรรพชาตอนอายุ 11 ปี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2495 ที่วัดราษฎร์บำรุง ถนนเพชรเกษม 69 แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร โดยมี พระครูวิศาลปริยัติคุณ (งาม จนฺทเทโว) วัดสามัคคิยาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์

             กระทั่งบรรพชาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2504 เมื่ออายุ 20 ปี ที่วัดสัมพันธวงศ์ ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์


             นอกเหนือจากตำแหน่งที่กล่าวข้างต้นแล้ว พระพรหมเมธี ยังเคยดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อาทิ กรรมการสนามหลวง แผนกธรรม, เลขานุการวัดสัมพันธวงศ์, ครูพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์, เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะธรรมยุต, เลขานุการพิจารณาสมณศักดิ์ของคณะธรรมยุต, เลขานุการเจ้าคณะภาค 1-2-3 และ 12-13 (ธรรมยุต), กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต, ผู้ช่วยเลขาธิการคณะธรรมยุต, ผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง, กรรมการบริหาร และผู้ช่วยเลขาธิการคณะธรรมยุต รูปที่ 1, อนุกรรมการ การปกครองของคณะธรรมยุต, พระอุปัชฌาย์ วิสามัญ และกรรมการมหาเถรสมาคม
ลำดับสมณศักดิ์

21 มิถุนายน 2509

              ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมที่ "พระครูสังฆบริหาร" ฐานานุกรมของพระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถระ) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ 9

 15 พฤศจิกายน 2513

              ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมที่ "พระครูปลัด" ฐานานุกรมของพระเดชพระคุณ พระเทพปัญญามุนี (เฉย ยสเถระ) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ 10

5 ธันวาคม 2519

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ที่ พระครูวิบูลศีลวงศ์ (ผจล.ชอ.)

5 ธันวาคม 2524

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม (ผจล.ชพ.)

5 ธันวาคม 2528

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระวิบูลธรรมาภรณ์

ทุจริตเงินทอนวัด อดีตพระพรหมเมธี

12 สิงหาคม 2535

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชธรรมาภรณ์

10 มิถุนายน 2539

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลกาญจนาภิเษก เป็นพระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ พระเทพรัชมงคลเวที

5 ธันวาคม 2544

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมกิตติเมธี

ทุจริตเงินทอนวัด อดีตพระพรหมเมธี

5 ธันวาคม 2553

              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมเมธี สีลาจารวัตรวิมล โสภณปริยัติดิลก สาธกธรรมวิจิตร พิพิธศาสนกิจจาทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

              ทั้งนี้ พระพรหมเมธี ยังดำเนินกิจการด้านสาธารณประโยชน์อีกมากมาย เช่น การเป็นกรรมการบูรณะก่อสร้างพุทธมณฑล, จัดสร้างเหรียญประดับพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. เพื่อเป็นที่ระลึก สำหรับผู้ที่บริจาคทรัพย์ร่วมสร้างอาคาร สุจิณฺโณ ณ โรงพยาบาลมหาราช จ.เชียงใหม่, ร่วมจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถระ และกิจกรรมพิเศษด้านสาธารณประโยชน์อื่น ๆ อีกจำนวนมากที่พระพรหมเมธีได้เป็นประธานดำเนินการ รวมทั้งยังได้รับกิตติบัตรมากมายในฐานะพระเถระผู้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย

ภาพและข้อมูลจาก watsamphan.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ อดีตพระพรหมเมธี หนีคดีทุจริตเงินทอนวัด ก่อนโดนรวบที่เยอรมนี อัปเดตล่าสุด 4 มิถุนายน 2561 เวลา 18:02:57 11,752 อ่าน
TOP