Thailand Web Stat

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หารือร่วมภาคี หาแนวทางป้องสิทธิมนุษยชนแหล่งข่าว


            สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหารือร่วมภาคีฯ แนะสื่อตั้งกติกา-ควบคุมกันเอง ลดเสนอข่าวมั่ว หนุนใช้เชือกกั้นขณะนำตัวผู้ต้องหาทำแผนฯ หวั่นกระทบสิทธิมนุษยชน วอนเลิกเสนอข่าวสาวสองส่อในทางเพศ ช่วงฤดูเกณฑ์ทหาร ด้านนักวิชาการชี้ สื่อ อย่าตกเป็นแรงเสริมลบ แนะเข้าสู่กระบวนการ PLC
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หารือร่วมภาคี

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หารือร่วมภาคี

            วันที่ 1 สิงหาคม 2561 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ Media Fun Facts จัดประชุมหารือพหุภาคี เรื่อง "แนวทางการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนของแหล่งข่าว" โดยมีผู้แทนจากภาคประชาสังคม กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตำรวจ แพทยสภา และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุม ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

            โดย นายชวรงค์ จิตรภาษ์นันท์ ประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การเกิดเหตุการณ์ถ้ำหลวงที่โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้เราเห็นถึงปัญหาการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เกิดภาวะฉุกเฉิน ภัยพิบัติ หากเราไม่มีแบบแผนหรือวางแนวทางเอาไว้ ก็อาจจะเกิดความสับสนวุ่นวายในการนำเสนอข่าว ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งหลายเหตุการณ์ในอดีตก็เป็นบทเรียนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีสื่อถ่ายทอดสด ดร.วันชัย ฆ่าตัวตาย หรือคดีเกาะเต่า เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้มีหลากหลายหน่วยงานมาร่วมกันหาแนวทางป้องกันผลกระทบต่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว หรือแม้แต่ตัวนักข่าวเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังแนวทางร่วมกัน

@ ดันสื่อเดินหน้าปฏิรูปตามกลไกกำกับดูแลกันเอง

            ด้าน นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า จากสถานการณ์ถ้ำหลวงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกแยกระหว่างสื่อมืออาชีพและสื่อสมัครเล่น เพราะสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายและมีหลากหลายรูปแบบ จึงต้องมีกลไกบางอย่างที่สื่อจะต้องควบคุมกำกับกันเอง และไม่ได้มาจากภาครัฐโดยตรง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกลไกที่เป็นทางการมากนัก เป็นเพียงการแสวงหาความร่วมมือเข้าใจกันระหว่างกลุ่มมืออาชีพต่าง ๆ แต่ในอนาคตควรต้องมีองค์กรที่กำกับดูแลกันเองอย่างจริงจังมากขึ้น

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หารือร่วมภาคี

@ วอนปรับข่าว "สาวสอง" ส่อไปในทางเพศ ฤดูเกณฑ์ทหาร

            คุณเจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ ได้เก็บข้อมูลการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเพศที่สามพบว่า แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ช่วงการเกณฑ์ทหาร ที่สื่อมักจะนำเสนอข่าวสาวประเภทสอง โดยการตั้งคำถามว่า แปลงเพศมาหรือยัง ซึ่งเปรียบเหมือนกับการเปิดกระโปรง หรือมาที่นี่มีใครถูกใจแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นคำถามที่ค่อนข้างส่วนตัว และส่อไปในทางเพศเป็นหลัก ทั้งที่ควรจะตั้งคำถามว่า มีความกังวลใจอะไรบ้างที่เข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหาร จึงอยากให้สื่อโฟกัสไปเรื่องอื่น นอกจากเรื่องเพศโดยตรง

            กรณี 2 ทางมูลนิธิฯ ได้ทำงานร่วมกับสหภาพคนข้ามเพศ สำนักงานใหญ่อยู่ที่เยอรมัน โดยมีการติดตามการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ มีการเก็บข้อมูลของคนข้ามเพศตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปี 2017 พบว่าคนข้ามเพศถูกฆ่าสังหารไปแล้ว 19 ราย สิ่งที่พบคือการนำเสนอของสื่อซึ่งเป็นไปในลักษณะคนที่ถูกฆ่ามีพฤติกรรมลวนลาม ทำให้เกิดอารมณ์นำไปสู่การฆ่าสังหาร จนทำให้เกิดภาพเหมารวมเชิงลบ เชื่อมโยงอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ จนสังคมมองว่าคนข้ามเพศมักจะมีอารมณ์รุนแรง อย่างกรณีล่าสุดที่มีการพาดหัวข่าวว่า "ทอมโหด…" ซึ่งความจริงแล้วคู่หญิง-ชายทั่วไปก็มีความรุนแรงได้หากขาดสติและยับยั้งชั่งใจ

@ ป้องสิทธิผู้ต้องหา เบรกนำตัวแถลงข่าว หนุนกั้นเชือกทำแผน

            สำหรับ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า เราจะต้องแยกความเป็นจริงในสังคม และความเป็นจริงที่นำเสนอผ่านสื่อ ซึ่งถูกเพิ่มเติมสร้างสีสันเพื่อเป็นจุดขาย ได้แก่ ประเด็นทางเพศ ความรุนแรง ความสมเพชเวทนา แบ่งแยก เหยียดหยาม ตัดสิน และความลุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งสื่อมีความติดว่าจะต้องรู้ และแกะเปลือกหมดทุกอย่าง

            อย่างกรณีสิทธิผู้ต้องหา เมื่อมีการแถลงข่าวและมีการเปิดเผยใบหน้า ซึ่งความจริงแล้วบุคคลนั้นยังเป็นเพียงผู้ต้องหาเท่านั้น ในที่สุดก็อาจจะไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดก็ได้ นอกจากนี้ ควรใช้เชือกกั้นเป็นโซนห้ามเข้าในพื้นที่ขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพ รวมถึงในเขตโรงพยาบาลจากกรณีเหตุการณ์ดารา-นักแสดง คุณปอ-ทฤษฎี เสียชีวิต สื่อมีการเบียดเสียดแย่งชิงกัน เพื่อให้ได้ภาพจนผ้าคลุมหลุด

            "รวมถึงกรณีเด็กหญิงชาติพันธ์ที่ถูกทำร้ายร่างกาย มีการปิดบังใบหน้าของเด็ก แต่กลับเปิดร่างกายเพื่อโชว์บาดแผล หันซ้าย-หันขวาให้สื่อ เรากำลังทำอะไรกับเขา แล้วความรู้สึกตอนนั้นของเขาคืออะไร ทั้งนี้ มองว่าไม่ได้โทษสื่อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสภาวะของสังคมที่ยังไม่สามารถบ่มเพาะวัฒนธรรมในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้น กฎเกณฑ์กติกาจึงต้องเคร่งครัด ความรุนแรงมีอยู่แล้วในเนื้อหา แต่เราจำเป็นไหมที่ต้องนำเสนอภาพความรุนแรง และผลิตซ้ำ ๆ กัน" ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หารือร่วมภาคี

@ ชี้สื่ออย่าตกเป็น แรงเสริมลบ แนะเข้าสู่กระบวนการ PLC

            ขณะที่ รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า เด็กไม่ได้เกิดมาเพื่อร้ายบริสุทธิ์ ไม่มีใครเกิดมาต้องการเป็นคนชั่ว แต่แปลกมากกลับมีโทรทัศน์ช่องหนึ่งโปรยหัวข่าวว่า "ฆาตกรฟันน้ำนม จิตใจโหดเหี้ยมทำด้วยอะไร" ในส่วนนี้อยากสะท้อนให้สื่อทำหน้าที่คืนสติให้แก่สังคม ไม่ใช่ทำให้สังคมจิตตกไปด้วยกัน ซึ่งเรายังไม่รู้ถึงสาเหตุและปัจจัยว่าเกิดอะไรขึ้น เรากลับฟันธงไปเสียแล้ว วันนี้ระบบนิเวศของเด็กพังพินาศ เราต้องทำความเข้าใจตรงกันว่าประเทศไทยดราม่าเยอะ และประชากรส่วนใหญ่เป็นโรคเสพติดข่าว และสื่อก็ต้องมีลูกเล่นขายข่าวมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าเรตติ้งของสื่อก็มีเฉพาะคอนเทนต์

            อย่างกรณี ข่าวกลุ่มเด็กชายกระทำชำเราเพื่อนเด็กหญิงด้วยกัน สื่อนำเสนอข่าวแบบตัดสินไปแล้ว โดยทางการแพทย์เด็กที่อายุไม่ถึง 12 ปี จะไม่มีความรู้สึกขับเคลื่อนทางเพศไปขอมีเซ็กส์กับคนอื่นได้ แต่นั่นคือพฤติกรรมลอกเลียนแบบจากสื่อ เช่น การนำเสนอข่าวแผนประกอบคำรับสารภาพ ทำให้เด็กอยากรู้อยากลอง ขณะที่สื่อก็จะบอกว่าเพราะสังคมอยากรู้อยากเห็น แต่ขณะเดียวกันเราสามารถบิ้วให้สังคมลดความอยากรู้อยากเห็นได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ถ้ำหลวงทำให้เราเห็นว่าสื่อมีความเป็นระเบียบมากขึ้น จึงอยากให้รักษาคุณภาพนี้ไว้

            "ขอเสนอกระบวนการ Professional Learning Community หรือ PLC โดยให้บรรณาธิการมาร่วมเคสคอนเฟอเรนท์แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพการนำเสนอข่าว อีกทั้งจะต้องให้สื่อมวลชนรู้จักจิตวิทยาแบบง่าย ๆ ให้เข้าใจว่าสิ่งนี้คือการละเมิดสิทธิ เราสามารถรายงานข่าวได้ แต่เราต้องไม่ตกเป็นแรงเสริมลบของสังคมด้วย" รศ.นพ. สุริยเดว กล่าว



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หารือร่วมภาคี หาแนวทางป้องสิทธิมนุษยชนแหล่งข่าว อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2561 เวลา 13:49:29 1,225 อ่าน
TOP
x close