x close

ใจตรงกัน ! สื่อถกวงสนทนา เห็นพ้อง ต้องเปลี่ยนตัวเอง รับยุคดิจิทัลก้าวกระโดด


            สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ Center for Humanitarian Dialogue และโครงการ "ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี" Media Fun Facts จัดเวที Media Forum ครั้งที่ 1 "สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด : โอกาสและความท้าทาย (Journalism & Digital Disruption : Prospects & Pitfalls)"
สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

            เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 เวลา 13.00 น. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ Center for Humanitarian Dialogue และโครงการ "ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี" Media Fun Facts ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวที Media Forum ครั้งที่ 1 "สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด : โอกาสและความท้าทาย (Journalism & Digital Disruption : Prospects & Pitfalls)" ณ Nexdots (Co-Working Space) ชั้น 2 I'm Park สามย่าน จุฬาฯ ซอย 9

            บรรยากาศในการสนทนาเป็นไปอย่างคึกคักเป็นกันเอง มีผู้ร่วมเข้าทั้งที่เป็นสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อระดับพื้นที่ นักวิชาการ และผู้ที่ทำงานในแวดวงอินเทอร์เน็ต การสนทนาเริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำกล่าวถึงการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดย ศ.ดร. กาญจนา กาญจนสุต ผู้อำนวยการ Internet Education and Research Laboratory สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย "คนไทยคนแรกที่เริ่มใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์รายแรกของประเทศไทย" ผ่าน Skype จากประเทศนิวซีแลนด์

สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

Fake News ปัญหาที่ต้องจัดการด้วยองค์ความรู้

            ศ.ดร. กาญจนา กล่าวว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีวิวัฒนาการก้าวกระโดดอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่างๆ ยิ่งในช่วง 2-3 ปีมานี้ที่มีการเปิดให้บริการ Streaming ผ่าน Smart Phone ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก จากที่เคยเป็นผู้เสพสื่อเพียงอย่างเดียวก็กลายเป็นผู้ผลิตสื่อไปด้วยในขณะเดียวกัน

            ทว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกลับนำมาซึ่งปัญหา Fake News ที่มีมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศยังปรับตัวไม่ทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างก้าวกระโดด ผู้บริโภคสื่อสังคมออนไลน์ขาดการตรวจสอบและหลงเชื่อข่าวหลอกลวง ทั้งยังขาดองค์ความรู้ที่จะใช้แยกแยะว่าเนื้อหาใดเป็นข้อเท็จจริง เนื้อหาใดถูกแต่งเสริมเติมแต่งขึ้นมา

            อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. กาญจนา มีความเห็นว่า ในมุมหนึ่งปัญหาดังกล่าว อาจจเป็นโอกาสและทางรอดของสื่อมวลชนไทย โดยการหันมาพัฒนาการทำงานของตนเองให้มีการทำงานข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น และสามารถเป็นหน่วยงานที่ยืนยันได้ว่า ข้อมูลใดถูกต้อง ข้อมูลใดเป็นเท็จ

            พร้อมกันนี้ยังได้พูดถึงเทคโนโลยีทีวีออนไลน์ว่ามีการเปลี่ยนไปจากในอดีตเป็นอย่างมาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรพิจารณาปรับตัวแก้ไขกฎเกณฑ์ในหลายๆ เรื่องที่ล้าสมัย โดยเฉพาะในขั้นตอนการให้ไลเซนส์ เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อออนไลน์

สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

สร้างความโปร่งใสทางข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล

            ขณะที่ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ผู้นำการสนทนาอีกท่าน มองว่าเทคโนโลยีและสื่อดิจิตัลไม่ได้เข้ามาคุกคามหรือ Disrupt เปลี่ยนแปลงสังคมไปอย่างสิ้นเชิง แต่จะทำให้สังคมมีความโปร่งใสมากขึ้นด้วยแพลตฟอร์ม และช่องทางใหม่ในการให้บริการต่างๆ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น

            พร้อมข้อเสนอแนะว่าสังคมไทยควรให้ความสำคัญเรือง Cyber Security หรือความมั่นคงของข้อมูลระดับประเทศมากขึ้น และส่งเสริมช่องทางให้ผู้ใช้ (User) เข้าใจและรู้ทัน สังคมต้องมีหลักคิดร่วมกันในเรื่องของการใช้ข้อมูล เช่น รู้ว่าใช้ข้อมูลอย่างไร ใครเอาข้อมูลไปใช้ ข้อมูลคืออะไร เราปกป้องข้อมูลของตัวเองอย่างไร เป็นต้น

            สำหรับมุมมองต่อการปรับตัวของสื่อ ดร.พณชิต เห็นว่าการกำกับดูแลสื่อในอนาคตรัฐควรเปลี่ยนจากการกำกับดูแลผ่านรูปแบบมาเป็นการกำกับดูแลที่เนื้อหาซึ่งเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงโดยตรง พร้อมมองว่าผู้ประกอบการด้านสื่อยังมีโอกาสและช่องทางในการอยู่รอดผ่านความต้องการคอนเทนต์และสื่อรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เจาะจงเฉพาะกลุ่ม

สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

ขยับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ทางรอดของสื่อมวลชนไทย

            ต่อจากนั้นจึงเป็นการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสนทนาได้แสดงความคิดเห็น ทั้งสื่อดั้งเดิม ที่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่ (ผู้ให้บริการเว็บไซต์ในประเทศไทย) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ระดับโลกเช่นกัน

            มีประเด็นหลักในการพูดคุยที่ทุกคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ มาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชนอาชีพที่มีมาตรฐานจริยธรรมและการกำกับดูแลโดยรัฐ องค์กรวิชาชีพ และสังคม ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิตเนื้อหาบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ยังไม่มีองค์กรข้างต้นทำการกำกับ ทำให้การนำเสนอเนื้อหาในบางครั้งขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งยังขาดความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ตนเองนำเสนอว่าจะสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง

            อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ ผู้ร่วมสนทนาหลายท่านเห็นสอดคล้องกับ ศ.ดร. กาญจนา ว่าอาจจะกลายเป็นโอกาสที่ดีในการยกระดับหน่วยงานของตนเองขึ้นมาทำงานในเชิงคุณภาพมากขึ้น และอาจจะดึงดูดผู้ใช้ (User) กลุ่มใหม่ให้เข้ามาใช้บริการสื่อในสังกัดของตนเองมากขึ้นกว่าในอดีต

            นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงรูปแบบธุรกิจของสื่อ (Business Model) ว่าควรมีการพัฒนาทางเลือกสำหรับการทำธุรกิจสื่อที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพ ทั้งทางคุณภาพและรายได้

สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

            ขณะเดียวกันได้มีการปรึกษาหารือแนวทางสร้างอำนาจต่อรองของสื่อมวลชนไทยบรรษัท Social media ข้ามชาติ ควรเกิดขึ้นผ่านการเจรจาต่อรองในหลายมิติ เป็นกระบวนการที่ภาคส่วนต่างๆ ร่วมดำเนินการ เช่น การสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนและการเสริมองค์ความรู้-ทรัพยากรในการปรับตัวโดยกระทรวง DE, กสทช. และองค์กรทางวิชาชีพสื่อ รวมทั้ง การสร้างกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น Digital Watch Group

            สำหรับการกำกับดูแลสื่อ ผู้ร่วมสนทนาเสนอว่า ควรเน้นการยกระดับของการกำกับดูแลโดยสังคมในมุมของสิทธิของผู้บริโภค โดยใช้มาตรการ เช่น Social Sanction ควบคู่ไปกลไกทางนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี หาฐานคิดที่เป็นหลักการที่ยึดถือผลประโยชน์ของสังคม เช่น การคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้บริโภคสื่อ ไม่ใช่เพียงการมองด้านความมั่นคงของรัฐในแบบดั้งเดิม หรือ เสถียรภาพของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพียงเท่านั้น

สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใจตรงกัน ! สื่อถกวงสนทนา เห็นพ้อง ต้องเปลี่ยนตัวเอง รับยุคดิจิทัลก้าวกระโดด อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2561 เวลา 14:37:13 1,179 อ่าน
TOP